[ ลาพิสซาราวัก ] เค้กลายเรขาคณิตของซาราวัก

[ ลาพิสซาราวัก ]
เค้กลายเรขาคณิตของซาราวัก
*สำหรับสายเค้กแบบแอดมินนะครับ ☝️😅
….
นี่คือเค้กจากยุโรปที่เดินทางเข้าสู่อินโดนีเซียในสมัยอาณานิคม มันกลายเป็นเค้กชั้น (layer cake) ที่มีลวดลายและสีสันสะดุดตา และเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมอาหารของแคว้นซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ทั้งยังได้รับการคุ้มครองในฐานะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากกว่า 10 ปีแล้ว
.
[ยุโรป – ปัตตาเวีย – ซาราวัก ]
ที่แคว้นซาราวัก ประเทศมาเลเซีย มีขนมที่ทำขึ้นในโอกาสพิเศษ เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า เค้กลาพิสซาราวัก (kek lapis Sarawak) จัดอยู่ในกลุ่มเค้กที่ทำเป็นชั้นๆ หรือ layer cake โดยพัฒนาต่อยอดจากเค้กลาพิสเบตาวี (เค้กของปัตตาเวีย) ของอินโดนีเซียซึ่งได้รับอิทธิพลจากเค้กของยุโรปในยุคที่อินโดนีเซียเป็นอาณานิคม
ภรรยาของผู้บริหารเมืองปัตตาเวียนิยมทำเค้กชนิดนี้ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ต่อมามีการประยุกต์ส่วนผสมและกรรมวิธีจนกลายเป็นอาหารอินโดนีเซีย เชื่อกันว่าเค้กชนิดนี้ ชาวอินโดนีเซียนำเข้าไปเผยแพร่ในซาราวักเมื่อราวทศวรรษ 1970 หรือราว 50 ที่ผ่านมา
เค้กของซาราวัก มีเอกลักษณ์อยู่ที่นำเนื้อเค้กสีสันต่างๆ มาเรียงเป็นชั้นๆ ออกแบบให้มีการสลับสีและรูปแบบของเส้นสายลวดลายเรขาคณิตจนกลายเป็นเค้กที่ได้รับความนิยมอย่างมากไม่เฉพาะในเทศกาลสำคัญๆ รวมไปถึงวันเกิดและวันแต่งงานเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในของที่ระลึกที่ผู้ไปเยือนต้องซื้อติดมือไปฝากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเสมอๆ
.
[ การทำลาพิส ]
การทำเค้กชนิดนี้เป็นงานที่ใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก แต่ละชิ้นกินเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
“ลาพิส” ซึ่งในภาษามาเลย์แปลว่า “ชั้น” ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำส่วนผสมที่ประกอบด้วยเนยหรือน้ำมันพืช นม และไข่ ตีให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวแล้วเทใส่ถาดขนาดใหญ่เป็นชั้นบางๆ ทีละชั้นจากนั้นก็อบจนสุกซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก่อนจะเทแป้งสีใหม่ทับลงไปแล้วอบอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเมื่อได้ความหนาที่ต้องการก็จะทิ้งไว้ให้เย็นแล้วตัดเป็นชิ้นๆ ประกบเข้าด้วยกันโดยใช้นมข้นหวานหรือแยมเชื่อมให้ติดกัน เกิดเป็นเค้กที่มีลวดลายเรขาคณิตที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษ
.
[ เค้ก..สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ]
ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา “เค้กลาพิสซาราวัก” ได้รับการคุ้มครองในฐานะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication) ว่าเป็นชื่อหรือสัญลักษณ์เฉพาะที่ใช้บนผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อิงไปถึงตำแหน่งหรือจุดเริ่มต้นทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีทั้งการคุ้มครองสถานที่ผลิต การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และรับรองความพิเศษท้องถิ่น
ฐานันดรนี้ทำให้การผลิตเค้กที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่เรียกว่า เค้กลาพิสซาราวัก หรือ เค้กชั้นซาราวัก หากทำขึ้นในแคว้นซาราวักจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของสมาคมผู้ผลิตเค้กชนิดนี้เท่านั้น
และหากเค้กที่มีลักษณะคล้ายกันและติดป้ายว่าเป็นเค้กซาราวัก แต่ไม่ได้ทำขึ้นในซาราวักจริงๆ ก็ถือว่ามีความผิดด้วย แต่ทั้งนี้ข้อปฎิบัติของสมาคมก็ผ่อนผ่อนให้โดยยอมให้เรียกโดยใช้คำว่าว่า “เค้กแบบซาราวัก” (Sarawak-style layer cake) ได้อยู่ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างเค้กที่ทำขึ้นในซาราวักจริงๆ กับเค้กที่ได้รูปแบบไปจากเค้กของซาราวัก นั่นเอง