ชาวไวกิ้งกินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะนอกจากจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับร่างกายอย่างโปรตีนจากเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดแล้ว ยังได้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในโยเกิร์ตเนื้อข้นและขนมปังธัญพืช ที่มีส่วนในการป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ด้วย
พูดถึงไวกิ้งเรามักนึกถึงกลุ่มคนที่ออกเดินเรือไปปล้นสะดมไปตามเมืองต่างๆ ของยุโรป บ่อยครั้งที่ภาพของนักรบไวกิ้งผมเผ้ายาวรุงรังถูกนำไปใช้ความดุดันป่าเถื่อนและความรุนแรงที่มักจบลงด้วยการนองเลือด
แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาหารของชาวไวกิ้งถือเป็นมีความก้าวหน้าและสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนสมัยใหม่อย่างเราๆ ไม่น้อยครับ เพรานอกเหนือจากเนื้อแห้งที่ทำเป็นแผ่นแข็งๆและเหล้าน้ำผึ้งแล้ว สิ่งที่ชาวไวกิ้งบริโภคเป็นประจำยังประกอบด้วยพืชผักนานาชนิดรวมถึงโยเกิร์ตที่ยังเป็นอาหารเช้ามื้อสุขภาพของหลายๆ คนอยู่ในปัจจุบันด้วย
.
วันนี้ ‘นวัตกิน’ มีเรื่องราวอาหารการกินของไวกิ้งที่ในแง่หนึ่งพวกเขาต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทางและการทำภารกิจต่างๆ ดังนั้น อาหารจึงมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าความพร้อมด้านอื่นๆ และน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการกินอาหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายของเรา
สไคร์ : โยเกิร์ตเนื้อข้น
.
ชาวไวกิ้งมีผลิตภัณฑ์นมจำนวนมากที่ได้จากวัว แพะและแกะ แต่การจะเก็บรักษาน้ำนมไว้ให้กินได้นานๆ นับเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้คนในอดีต ดังนั้น จึงเกิดการแปรรูปนมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนย เนยแข็ง (ชีส) โยเกิร์ตและสไคร์ (skyr) ซึ่งเป็นโยเกิร์ตที่มีความข้นมากจนดูเหมือนกับชีส ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสไคร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเอาหางนมหรือเวย์ (whey) ออกไปมากกว่าโยเกิร์ตชนิดอื่นๆ ให้พลังงานสูง เก็บไว้ได้นานในสภาพอากาศหนาวเย็น
วิธีการทำสไคร์ของชาวไวกิ้งนั้นเริ่มจากการนำนมมาต้มให้ร้อน ตักเอาส่วนที่เป็นมันเนยออกแล้วทิ้งไว้เป็นจับตัวข้นแข็งพร้อมๆ กับปล่อยให้จุลินทรีย์ทำให้เกิดการหมักระยะหนึ่ง จากนั้นนำไปกรองแยกส่วนที่เป็นโยเกิร์ตกับน้ำหางนมออกจากกัน ซึ่งชาวไวกิ้งไม่ปล่อยหางนมทิ้งให้เสียของหรอกนะครับ พวกเขาใช้หางนมมาดื่ม นำไปดองผักหรือใช้ถนอมอาหารประเภทเนื้อให้เก็บไว้ได้นานๆ ด้วย
สเกาซ์ : เนื้อตุ๋น
.
ชาวไวกิ้งนิยมปรุงอาหารให้สุกด้วยการต้ม เนื้อกวางเรนเดียร์ เนื้อกวางเอลก์ เนื้อหมี ตลอดจนเนื้อม้า เนื้อวัว เนื้อหมู รวมไปถึงนกพัฟฟิน นกอ็อก (ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว) ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ฯลฯ จะนำไปต้มในหม้อใบใหญ่พร้อมกับเครื่องปรุงอื่นๆ และอาจเป็นที่มาของเนื้อตุ๋นที่เรียกว่า สเกาซ์ (skause) ที่ถือเป็นอาหารหลักของชาวไวกิ้งเลยก็ว่าได้
ทุกบ้านต้องมีสเกาซ์ติดครัวไว้เสมอ เมื่อกินเนื้อที่ตุ๋นจนเปื่อยยุ่ยเคี้ยวง่ายแล้ว น้ำแกงในหม้อจะเก็บไว้สำหรับต้มกับผักและเนื้อในมื้อต่อไป ซึ่งเขาบอกว่ายิ่งต้มยิ่งเคี่ยวไปนานๆ เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ความอร่อยของน้ำซุปก็จะยิ่งทวีขึ้น และเพราะอากาศที่หนาวเย็น สเกาซ์ที่ทิ้งไว้ข้ามคืนจะมีชั้นไขมันลอยอยู่ด้านบนซึ่งทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เน่าเสียง่ายอีกด้วย ส่วนอาหารประเภทปิ้งย่างแบบเสียบไม้หันเหนือไฟร้อนๆ ก็มีเหมือนกันนะครับ แต่ต้องโอกาสพิเศษจึงจะทำสักครั้ง
ปลาแห้ง : แหล่งโปรตีนชั้นดี
.
ปลาเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ชาวไวกิ้งกินเป็นอาหารหลักไม่น้อยไปกว่าสเกาซ์ที่เล่ามา พวกเขาจะนำปลาที่หาได้จากแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งแม่น้ำ ทะเลสาบ ลำธารและทะเล มารมควัน ทำเค็มและตากแห้งไว้สำหรับเป็นเสบียงติดตัวไปในยามต้องออกเรือไปไกลและเป็นอาหารสำรองในช่วงฤดูอันหนาวเหน็บ
โดยเฉพาะปลาแฮร์ริง (herring) ที่เรียกได้ว่าเป็นปลาที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และพบได้บ่อยมากในเมนูอาหารของไวกิ้ง เช่นเดียวกับปลาค็อดแห้ง หรือ stockfish ที่เชื่อกันว่าเป็นปลาแห้งที่มีโปรตีนสูงมาก คือ ในเนื้อปลาค็อด 100 กรัม มีโปรตีนอยู่ถึง 78.5% นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินดี วิตามินบี 12 และธาตุเหล็กซึ่งทำให้ปลาแห้งของชาวไวกิ้งเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วยุโรปมานานนับศตวรรษแล้ว
ขนมปังธัญพืช
.
ชาวไวกิ้งนำสเกาซ์หรือเนื้อตุ๋นที่กล่าวไปแล้วมากินกับขนมปังผสมธัญพืชหลากชนิดซึ่งถือเป็นอาหารหลักอีกอย่างหนึ่งของไวกิ้งด้วย ธัญพืชต่างๆ เป็นต้นว่าข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ตและข้าวไรย์ รวมทั้งเมล็ดถั่ว ลูกนัต น้ำผึ้งและเปลือกไม้บดละเอียดจะนำมาผสมผสานกันจนกลายเป็นแป้งขนมปัง
ส่วนวิธีการทำให้ขนมปังสุกก็ใช้ไม่ต้องก่อไฟหรือหาเตาอบให้ยุ่งยาก เพราะขณะที่กำลังต้มสเกาซ์อยู่นั้นชาวไวกิ้งก็จะสอดกระทะเข้าไปใต้หม้อเนื้อตุ๋นนั้น จากนั้นจึงวางแผ่นแป้งลงไปปล่อยให้สุกแล้วกลับอีกด้านหนึ่งให้สุกทั่วกัน เรียกว่าทำครั้งเดียวได้อาหาร 2 เมนูเลยทีเดียว และแม้ขนมปังชนิดนี้จะแข็งเมื่อเย็นตัวลง แต่เมื่อนำมากินกับสเกาซ์ก็ปรากฏว่าขนมปังจะกลับมานุ่มอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ชาวไวกิ้งยังเก็บแป้งหรือโด (dough) ไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเป็นแป้งเชื้อ (sourdough) ในการทำขนมปังครั้งต่อไป
แอลกอฮอล์ปลอดภัยกว่าน้ำ
.
น้ำในธรรมชาติถือว่าไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย ชาวไวกิ้งจึงนิยมดื่มเอล (ale) พร้อมกับอาหารมื้อต่างๆ
เอลของชาวไวกิ้งนั้นได้จากข้าวบาร์เลย์ที่เพาะให้งอกเป็นมอลต์ (malt) จากนั้นเมื่อผ่านกระบวนการหมักก็จะได้เป็นเบียร์ 2 แบบคือ เบียร์แรง (strong) และเบียร์เบา (weak)
เบียร์เบานั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำจนแม้แต่เด็กก็ยังดื่มได้ และส่วนมากมักจะเก็บไว้กินกับปลาแห้ง (stockfish) และเนื้อแห้ง ส่วนเบียร์แรงนั้นจะเก็บไว้อย่างดีและไม่นำออกมาดื่มจนกว่าจะมีพิธีเฉลิมฉลองสำคัญจริงๆ เท่านั้นจึงนำออกมาดื่มพร้อมๆ กับเหล้าน้ำผึ้ง (mead) ที่หมักจากน้ำผึ้งและสมุนไพรหลายชนิด นอกจากนี้ ชาวไวกิ้งยังใส่น้ำผึ้งในขนมปังที่นำมากินกับผลไม้ทั้งสดและแห้งเป็นของหวาน
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่าอาหารของชาวไวกิ้งซึ่งเน้นหนักที่การกินปลา กินผัก กินน้ำตาลและแป้งแต่พอเหมาะนั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนรักสุขภาพในปัจจุบัน เพราะการกินอาหารแบบชาวไวกิ้งช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมและยังช่วยลดน้ำหนักอีกด้วย