วอลนัท : ถั่วสมองที่บำรุงมากกว่าสมอง

วอลนัท : ถั่วสมองที่บำรุงมากกว่าสมอง
.
คุณๆ เคยมีอาการแบบนี้ไหมครับ ลืมกุญแจบ้าน ลืมล็อครถ ออกจากบ้านแล้วไม่แน่ใจว่าลืมปิดน้ำปิดไฟหรือยัง หรือจะพูดจะทำอะไร แล้วจู่ๆ นึกไม่ออกขึ้นมาดื้อๆ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของสิ่งที่เรียกว่า “สมองล้า” ก็เป็นได้ครับ
ทุกวันนี้เรามีอาการสมองล้ากันโดยไม่รู้ตัวซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะเครียดจากการที่สมองผ่านการใช้งานอย่างต่อเนื่อง สังเกตไหมครับว่าวัน ๆ เรามีเรื่องต้องทำต้องคิดพร้อมกันทีละหลายเรื่อง การใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีคลื่นสัญญาณมากเกินไปอาจรบกวนการทำงานของสมองได้ รวมถึงภาวะการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานของสมองแย่ลง มีภาวะหลงลืม สมองตื้อ อาการมึนงง ขาดสมาธิ และอารมณ์แปรปรวน การรักษาอาการสมองล้านั้น ง่ายๆ คือ ปรับรูปแบบของการใช้ชีวิตให้สมดุล ทั้งการพักผ่อนและการดูแลด้านโภชนาการควบคู่กันไป
วันนี้ ‘นวัตกิน’มีเรื่องราวของวอลนัท หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า “มันฮ่อ” หรือ “ถั่วสมอง” ตามรูปลักษณ์ของมันมาฝากกัน และที่่น่าสนใจก็คือ ให้บังเอิญว่าวอลนัทนี้ยังมีสรรพคุณในการบำรุงสมองเสียด้วยสิครับ
.
วอลนัท “มันฮ่อ” หรือ “ถั่วสมอง” เป็นอาหารที่ชาวยุโรปกินกันเป็นประจำ พบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงภาคตะวันตกของยุโรป มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ถั่วเปอร์เซีย” ตามแหล่งกำเนิดในเอเชียกลาง วอลนัทมีหลายพันธุ์ เช่น วอลนัทเปอร์เซีย ลูกค่อนข้างใหญ่ วอลนัทลูกเล็กของเม็กซิโก และวอลนัทป่าลูกเล็กของญี่ปุ่นซึ่งรสชาติอาจสู้สองชนิดแรกไม่ได้ เป็นต้น
วอลนัทอุดมด้วยวิตามินอีและฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า 3 ที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและบำรุงความดันเลือด สารเมลาโทนินที่ช่วยควบคุมนาฬิกาชีวิตให้เรานอนหลับง่ายขึ้น การทำงานของระบบสมองสมดุลขึ้น การกินวอลนัทเป็นประจำจึงลดโอกาสที่จะเกิดอาการความจำเสื่อมหรือชะลอให้เกิดอาการช้าลง รวมถึงช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้นได้อีกด้วย
นอกจากนี้ช่วยดูแลสมองแล้ว วอลนัทยังลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคอ้วนเพราะไขมันไม่อิ่มตัว ยิ่งกว่านั้นสารต้านอนุมูลอิสระในวอลนัทยังช่วยปกป้องเยื่อบุหลอดเลือดแดง ช่วยให้เรารู้สึกอิ่มท้อง ไม่หิว ทำให้ไม่ต้องกินจุบจิบ จึงลดโอกาสเป็นโรคอ้วนให้น้อยลง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ วิตามินอีในวอลนัทช่วยบำรุงสุขภาพผิวพรรณและเส้นผม เรียกว่าสวยทั้งภายนอกและภายในกันเลยทีเดียว
คนจีนถือว่านอกจากวอลนัทหรือมันฮ่อมีสรรพคุณบำรุงสมองแล้วยังมีผลช่วยบำรุงไตและหล่อลื่นลำไส้ได้เช่นกัน สำหรับคนที่ม้ามและไตขาดพลังหยาง จนทำให้เกิดอาการบวม ควรแก่การรับประทานวอลนัทเป็นประจำ นอกจากนี้วอลนัทยังสามารถเสริมกำลังเอวและขา โดยเฉพาะหญิงหลังคลอดซึ่งวอลนัทจะช่วยฟื้นฟูกำลังได้เร็วมาก นอกจากนี้ การแพทย์แผนจีนยังเชื่อว่าวอลนัทช่วยควบคุมพิษจากแร่ธาตุได้ จึงนำไปสู่การใช้เป็นยาในการรักษาอาการหอบหืด เจ็บคอ รวมถึงโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ว่ากันว่าพระนางซูสีไทเฮาทรงชอบเสวยมันฮ่อหรือวอลนัทมาก เพราะมีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณให้งดงาม ทำให้ผมดำมันนุ่มนวล และยังเสริมกำลังวังชาได้ด้วย
สำหรับคนที่รู้ตัวว่าเพิ่งมีอาการหวัดหรือผู้สูงอายุที่รู้สึกกังวลเพราะปัสสาวะบ่อย ก็ให้นำวอลนัทมาบุบพอแหลกแล้วต้มกับน้ำจนเดือดนำมาดื่มแล้วจะมีเหงื่อออกทันที อาการไม่พึงประสงค์จะหายไปได้ ซึ่งคล้ายกับวิธีของชาวฝรั่งเศสนำไวน์หรือบรั่นดีผสมน้ำแล้วใส่วอลนัทสดกัลน้ำตาลกรวดแช่ไว้
ซึ่งกรรมวิธีเช่นนี้คล้ายๆ กับการทำเหล้าบ๊วยของจีน เชื่อกันว่าเครื่องดื่มที่หมักด้วยวิธีเช่นนี้จะช่วยเพิ่มพูนกำลังวังชา ซึ่งจะได้ผลดีมากกับคนที่มีสุขภาพอ่อนแอหรือเป็นหวัดง่าย ขณะที่เครื่องดื่มนี้ยังราคาสูงกว่าเหล้าผลไม้ธรรมดาอีกด้วย
.
ฝากกันไว้เป็นเรื่องสุดท้ายคือ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริการายงานว่าการกินวอลนัททำให้เชื้ออสุจิของผู้ชายแข็งแรงขึ้นได้ โดยอ้างอิงจากการสำรวจที่แบ่งผู้ชาย 2 ออกเป็นกลุ่ม ให้กลุ่มแรกจะต้องกินวอลนัททุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นไม่ให้กินวอลนัทหรือถั่วชนิดอื่นใดเลย ผลปรากฏว่า เชื้ออสุจิของผู้ชายกลุ่มแรกมีความสมบูรณ์และแข็งแรงมากกว่าเชื้ออสุจิของผู้ชายกลุ่มที่สองอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้อาจมาจากการที่ในวอลนัทนั้นมีทั้งวิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม สังกะสี โฟเลต และโอเมก้า 3 เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยเพิ่มตัวเชื้อและเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสืบพันธุ์ ดังนั้น การกินวอลนัทเป็นประจำช่วยในการผลิตเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น
ใครที่กินกระเทียมเพื่อให้ช่วยลดคอเลสเตอรอลและบำรุงกำลังวังชาแบบชายชาตรีบ่อยแล้ว ลองหันมากินวอลนัทแค่วันละ 1 กำมือดูบ้าง นอกจากจะได้รสชาติและความแปลกใหม่แล้ว สรรพคุณของวอลนัทข้อสุดท้ายนี้น่าจะถูกใจคุณๆ สุภาพบุรุษแน่นอนเลยทีเดียว จริงไหมล่ะครับ

Related Posts