Most Popular
2,528
เรื่องเล่าของ “โดนัท” 🍩
ชาวดัชต์ ลูกนัท และบารอนอังกฤษ
เค้กฉ่ำน้ำมัน ความบังเอิญ กัปตันเรือ และสงครามโลก
วูดูโดนัท ยารักษาโรค และธุรกิจหมื่นล้าน..
ทั้งหลายเหล่านี้ เกี่ยวอะไรกับ “เรื่องเล่าของโดนัท”
…..
ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มีเรื่องเล่ารายล้อมตัวมันอยู่เสมอครับ..เพราะเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งนั้นนั่นแหละที่ทำให้มันสำคัญ มีสีสันและกลายเป็นภาพจำที่น่าสนใจในใจผู้คน หรือพูดอีกแบบคือ..อาจเรียกว่าคนเรานั้นไม่ได้จำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากตัวของสิ่งนั้นเองก็ได้ แต่เราจำ “เรื่องราว” ของสิ่งนั้นไงครับ
ใน “โลกของอาหาร” ก็เช่นกัน..
หลายๆ ครั้งที่เราอยากทานอาหารบางชนิดนั้นก็ไม่ใช่เพราะหน้าตาของมัน (เช่นราเมงบางร้านนั้น ยังไงๆ ก็หน้าตาไม่ต่างจากที่อื่น) แต่เราอยากทานมันจากการได้ฟัง ได้เห็น เรื่องราวของมันต่างหาก ตั้งแต่ ชื่อร้าน ส่วนผสม ตำนาน สรรพคุณและเสียงเล่าลือเรื่องรสชาติของมัน
หรืออย่าง “ร้านอาหาร” ..
เราหลายคนยอมดั้นด้นไปร้านอาหารแห่งนั้น ยอมลงทะเบียนจองโต๊ะล่วงหน้ายาวนานนั่นก็ไม่ใช่เพราะรู้สึกดีกับร้านนะครับ (เพราะเรายังไม่เคยไปนี่นา) แต่เป็นเพราะเรารู้สึกดีกับเรื่องราวตำนาน เสียงลือ และข่าวคราวเกี่ยวกับร้านนั้นยังไงล่ะครับ จริงมั๊ย..
ดังนั้น “นวัตกิน” วันนี้ เราขอเอาเรื่องเล่า เรื่องราวและเกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับอาหาร (ขนม) ง่ายๆ ที่ดูธรรมดาๆ แต่ทว่า..มันฮอตฮิตแพร่หลายไปทั่วโลกอย่าง “โดนัท” มาเล่าสู่กันฟังครับ
ใช่ครับโดนัท, ..โดนัทธรรมดาๆ เหมือนที่เราเห็นตามห้างหรือแม้แต่ตลาดนัดนี่แหละครับ ฮอตแค่ไหนไม่รู้..รู้แต่ว่าเฉพาะในร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ในสหรัฐอเมริกา ประมาณกันว่ามีการผลิตโดนัท 10,000 ล้านชิ้นต่อปีก็แล้วกัน!
1. เค้กฉ่ำน้ำมัน ชาวดัชต์ ลูกนัท และบารอนอังกฤษ
เรื่องตลกเรื่องหนึ่งของอาหารคือ พอมันดัง หรือกลายเป็นอาหารที่แพร่หลายขึ้นมา..มันก็มักจะมีตำนานหรือเรื่องเล่าหลากหลายเรื่องเกี่ยวกับที่มาของมันเกิดขึ้นจากที่ต่างๆ ด้วยเรื่องราวที่ต่างกันไป (จำเรื่องที่มาของชื่อมาการิต้าที่มีคนแย่งกันเคลมผลงานที่เราเคยลงไว้เมื่อเดือนที่แล้วได้ไหมครับ)
โดนัทก็เหมือนกันครับ ประวัติและที่มาของอาหารแป้งทอดรูปวงกลมมีรู (ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะฮิตไปทั่วโลก) ชนิดนี้ ก็มีเกร็ดเรื่องราวเกี่ยวกันที่มาของมันหลายแบบเช่นกัน เช่น..
-ไม่ใช่อเมริกัน..
บางคนบอกว่าเดิมที โดนัท (doughnut) นั้นไม่ใช่ของชาวอเมริกันกันอย่างที่เราเข้าใจ แต่มันเป็นขนมจากดัตช์ที่เข้ามาสู่อเมริกาในชื่ออื่นมาก่อน ชื่อแรกของมันนั้นเรียกว่า โอลีเคิกส์ (olykoeks) ซึ่งหมายถึง oily cakes หรือจะเรียกว่าเค้ก(ฉ่ำ)น้ำมัน ก็คงพอได้ แล้วต่อมาก็ค่อยเปลี่ยนชื่อเป็นโดนัท
-เดิมทีไม่มีรู..
โดยรูปร่างของขนมชนิดนี้ เดิมที่ไม่ได้เป็นวงกลมที่มีรูตรงกลางอย่างที่เห็นทุกวันนี้ แรกทีเดียวเขาปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วทอด (เหมือนขนมไข่นกกระทาหรือขนมไข่เต่าที่ทอดขายกันนั่นแหล่ะ) แต่เอกลักษณ์ของขนมชนิดนี้คือ แป้งหมัก ที่เรียกว่า โด (dough) ซึ่งนำมาทอดในน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช ใช้เสิร์ฟในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ตรงนี้น่าจะเป็นที่มาของ “โด” แต่ทว่า “นัท” นี่สิ ตกลงมันยังไง..
-แฮนซันอาจชอบกินลูกนัท..
เกี่ยวกับชื่อของโดนัทเรื่องนี้..ว่ากันว่า ในกลางศตวรรษที่ 19 หญิงชาวรัฐเมน (Maine) คนหนึ่งชื่อเอลิซาเบธ เกรกอรี (Elizabeth Gregory) ทำขนมชนิดนี้ให้ลูกชายของเธอ คือ แฮนซัน เกรกอรี ที่เป็นกัปตันเรือติดไปกินระหว่างทาง แล้วเหตุที่เรียกกันว่า “โดนัท” ก็มาจากการที่เธอเลือกใส่ “ลูกนัท” วางไว้กลางก้อนแป้งที่ทอดนั้นด้วย (ซึ่งเป็นไปได้ว่าตาแฮนซันนี่อาจชอบกินลูกนัทก็ได้ ไม่มีใครรู้..)
-ตำรา..บารอนอังกฤษ..
เมื่อกี้บอกว่าโดนัทมาจากพวกดัชต์ แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งครับที่บอกว่าโดนัทมีต้นกำเนิดมาจากอังกฤษต่างหาก โดยเรื่องเล่านี้อ้างว่าในตำราอาหารที่เขียนขึ้นในปี 1800 นั้น บารอนเนสแห่งฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ได้มีการระบุชื่อขนมที่ชื่อว่า “โดว์นัท” (dow nut) ซึ่งทำจากแป้งสาลี น้ำตาล เนย ลูกจันทน์ป่น ยีสต์ กับไข่ไก่ แล้วนำไปทอดในน้ำมันหมูเอาไว้ ดังนั้นตรงนี้ต่างหากน่าจะเป็นที่มาของขนมชนิดนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าต้นกำเนิดอีกแบบที่เป็นไปได้
2. “รู” หมื่นล้าน..ที่มาคือความบังเอิญ
ว่าด้วยคำว่า “รู” นั้น ปกติมักจะเป็นเรื่องของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สำคัญและไม่มีค่าเท่าไหร่ เผลอๆ จะออกไปในทางบกพร่องและผิดพลาดซะมากกว่า
แต่กับรูโดนัทนั้นต่างออกไปครับ รูของขนมชนิดนี้กลายเป็นทั้งเอกลักษณ์และความคลาสสิก และเอกลักษณ์นี้เองที่ทำให้มันมีมูลค่าในธุรกิจอาหารอย่างมหาศาล
แต่ “รู” นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร อันนี้ก็มีเรื่องเล่าอยู่เช่นกัน..
ว่ากันว่ากัปตันแฮนซัน เกรกอรี (Hanson Gregory) บุตรชายของคุณนายเอลิซาเบธ เกรกอรี นั้นเป็นคนแรกที่คิดทำโดนัทที่มีรูตรงกลาง หรือโดนัทรูปวงแหวนขึ้นมา แต่ตำนานเรื่องนี้ก็มีหลายกระแสเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่า..มันเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจต่างหาก
เช่น บางเรื่องบอกว่า ระหว่างควบคุมเรือนั้น กัปตันเสียบขนมที่แม่ทำไว้ให้บนไม้แหลมๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องถือขนมไว้ตลอดเวลาตอนที่ทำงานและเจ้าไม้นั่นแหละที่คงทำให้ขนมตรงกลางทะลุจนกลายเป็นไอเดียของขนมมีรูในเวลาต่อมา
หรืออีกเรื่องหนึ่งที่ต่างไปก็บอกว่า รูนั้นไม่ได้เกิดจากกัปตัน แต่เกิดขึ้นจากการที่แม่เขาใช้ฝาขวดพริกไทยกดลงไปบนแป้ง (อาจจะบังเอิญวางตอนนวดแป้ง) จนทำให้เกิดไอเดียทำขนมแป้งทอดที่มีรูตรงกลางขึ้นมาต่างหาก
ยังไงก็ตาม เรื่องเล่าเรื่องนี้มีที่มาจากอีกฟากฝั่งด้วย..คือฝั่งนักวิชาการครับ
นักวิชาการทางประวัติศาสตร์อาหารเชื่อว่าแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้คิดโดนัทรูปร่างแบบปัจจุบันขึ้นมากันแน่ แต่ “เหตุผล” ในการทำให้มันมีรูของใครคนนั้น น่าจะมาจากการที่ก้อนแป้งที่ทอดแบบเดิมอาจมีขนาดใหญ่เกินไป จนทำให้เกิดปัญหาในการทอดว่าแป้งสุกไม่ทั่วกัน ข้างนอกสุก แต่ที่แป้งข้างในยังแฉะหรือดิบอยู่ ด้วยปัญหานี้จึงมีการทดลองทำแป้งให้เป็นวงกลม และมีรูเพื่อให้ความร้อนจากน้ำมันเข้าถึงแป้งและสุกเสมอกันทั้งก้อนแทน
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีเกร็ดแถมด้วยครับว่า..
เมื่อก่อนเวลาจะทำโดนัทนั้นเราต้องแผ่แป้งเป็นแผ่นหนาๆ แล้วใช้พิมพ์กดออกมาเป็นวงๆ นำไปทอด โดยส่วนของแป้งตรงกลางที่แกะออกให้เป็นรูนั้นก็มีการนำไปทอดขายต่างหาก กลายเป็นอาหารแป้งทอดรูปร่างเหมือนกระดุมสีน้ำตาลๆ ด้วย แต่อาหารกระดุมน้ำตาลนี้
ปัจจุบันคงหาไม่ค่อยได้แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เราใช้เครื่องทำโดนัทที่จะจับแป้งมาคลึงเป็นเส้นแล้วต่อกันเป็นวงกลม หรือไม่ก็ใช้แม่พิมพ์กดแป้งออกมา ทำให้ไม่มีแป้งเหลือจากกลางรูโดนัทอีกต่อไป
3. โดนัทคิดถึงบ้าน..อาชีพหลังปลดประจำการของทหารสงครามโลก
ในประวัติศาสตร์ของอาหารนั้น เรื่องเล่าของอาหารจำนวนมากไม่ได้มีแต่เรื่องของสูตร ครัว แบรนด์หรือเจ้าของร้านแบบทุกวันนี้ แต่มันมักเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวในสังคมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมโลกด้วย โดยเราจะเห็นได้ว่าอาหารหลายชนิดนั้น มีความเกี่ยวข้องกับ “สงครามโลก” อย่างน่าสนใจ
โดนัทที่น่ารักของเราก็เช่นกัน..
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945) อาสาสมัครขององค์กรการกุศลของชาวคริสต์องค์กรหนึ่ง ชื่อว่า The Salvation Army ได้ทำการแจกจ่ายโดนัทให้แก่ทหารในแนวหน้า เพื่อเป็นเสบียงอาหารครับ แต่โดยไม่คาดคิด โดนัทเหล่านั้นกลับสร้างผลกระทบบางอย่างแก่เหล่าทหารมากกว่าความอิ่มอร่อย
นั่นคืออาหารบ้านๆ อย่างโดนัท ได้ทำให้พวกทหารเหล่าเกิดความรู้สึกคิดถึงบ้านขึ้นมาเมื่อได้เห็นมัน
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทหารผ่านศึกปลดประจำการหลายคนที่กลับไปยังบ้านเมืองตนเองก็เลือกทำอาชีพใหม่ด้วยการเปิดร้านขายโดนัทกันเป็นการใหญ่ นั่นแปลว่า ตามร้านโดนัทท้องถิ่นที่ยังคงอยู่ตามที่ต่างๆ จำนวนหนึ่งในทุกวันนี้หากได้ย้อนสาวไปถึงต้นกำเนิดล่ะก็เราจะพบว่าต้นตระกูลผู้ก่อตั้งร้านนั้นคือคุณปู่ทหารจากสงครามโลก
และที่สหรัฐอเมริกานั้นก็มีการกำหนดให้วันศุกร์แรกของเดือนมิถุนายน ทุกปี เป็นวันโดนัทแห่งชาติ หรือ National Doughnut Day เพื่อรำลึกถึงการแจกจ่ายโดนัทขององค์กรการกุศลในช่วงสงครามโลกอย่างที่ว่ามาด้วย และในวันนั้น นอกจากจะมีกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ แล้ว ร้านขายโดนัทจำนวนมากในสหรัฐต่างก็ให้ลูกค้าได้กินโดนัทฟรีแบบไม่อั้นในวันดังกล่าวด้วย
เกร็ดนวัตกิน : .นอกจากนี้สงครามโลกยังให้กำเนิดคำว่า โดนัทแลสซี (doughnut lassie) หรือสาวโดนัท ขึ้นมาด้วย โดยเกิดจากคำเรียกอาสาสมัครหญิงที่ทำหน้าที่แจกจ่ายโดนัทให้ทหารในสงครามนั่นเอง
4. อุตสาหกรรมหมื่นแสนล้าน..อันตรายหรือจะสู้ความอร่อย
ว่ากันว่ามนุษย์อย่างเราๆ นั้นไม่เคยแพ้อะไรนอกจากใจของพวกเราเอง ซึ่งในโลกของอาหารนี่แหละคือพื้นที่แห่งการพ่ายแพ้ของพวกเราอย่างแท้จริง (ใครเป็นบ้าง?) ทีนี้หากว่ากันตรงๆ ก็คงต้องยอมรับว่า “โดนัท” ที่แสนอร่อยนั้นไม่ใช่เพื่อนที่ดีของคนรักสุขภาพแน่ แต่ว่ากันตรงขึ้นไปอีกนิดก็คือ..โดนัทนี่เองคือหนึ่งในอาหารที่ฮอตฮิตที่สุดในโลกครับ
มีงานวิจัยชี้ว่าโดนัทเคลือบน้ำตาลธรรมดาๆ 1 ชิ้นนั้นให้พลังงาน 190 แคลอรี แถมยังมีไขมันอิ่มตัว 5 กรัม ที่คิดเป็น 25% ของไขมันที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน (ตามมาตรฐาน RDA ของอเมริกัน) ตามมาด้วยน้ำตาลอีก 10 กรัม (ซึ่ง RDA กำหนดว่าเราควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 25 กรัม) ซึ่งแปลว่าหากเราทานโดนัทธรรมดาๆ เข้าไปแค่หนึ่งชิ้น โควต้าของน้ำตาลและไขมันที่ควรได้รับในวันๆ นั้นก็หายไปเยอะครับ
เมื่อกี้ว่ากันที่โดนัทเคลือบน้ำตาลแบบเบสิคเท่านั้นนะครับ ทีนี้โดนัทที่มีการปรุงรสชาติต่างๆ เพิ่มเข้าไปก็แน่นอนว่ายิ่งเพิ่มสัดส่วนน้ำตาลและไขมันมากขึ้นไปอีก อย่างโดนัทเจ้าหนึ่งที่เคลือบช็อกโกแล็ตหนาๆ ละมุนลิ้น พบว่าให้พลังงานถึง 400 แคลอรี ไขมันอิ่มตัว 12 กรัมและน้ำตาล 19 กรัม!!! ซึ่งไม่ดีแน่สำหรับคุณๆ ที่ใส่ใจเรื่องน้ำหนักตัวและสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่กินอาหารแบบ “นับแคล” คงต้องเลี่ยงสิ่งนี้ให้ไกลหน่อย
แต่ถึงจะอันตรายต่อสุขภาพยังไง.เรื่องของอารมณ์และความอร่อยก็ชนะเสมอครับ
เพราะโดนัทนั้นนับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่งของโลกใบนี้
ในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมโดนัทถือว่าใหญ่โตมากๆ ว่ากันว่ามีโดนัทที่ทำขึ้นขายตามร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ไม่น้อยกว่าปีละ 10,000 ล้านอัน โดยที่บอสตัสได้ชื่อว่าเป็นเมืองของคนรักโดนัทอย่างแท้จริง ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2016 พบว่ารัฐที่มีจำนวนร้านโดนัทมากที่สุดคือรัฐโรดไอร์แลนด (27 ร้านต่อประชากร 100,000 คน) รองลงมาคือรัฐแมสซาชูเซตส์และรัฐนิวแฮมป์เชอร์ (26 ร้านต่อประชากร 100,000 คน) ซึ่งถ้าจะให้เจาะลงไปพบว่าที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ มีสัดส่วนร้านโดนัท 1 ร้านต่อประชากร 2,480 คน เลยทีเดียว
5. โดนัทหมอผี โดนัทยาแห่งเมือง พอร์ทแลนด์
ว่าด้วยเรื่องสูตรอาหารพิลึกนั้น มนุษย์เรานี่แหละครับที่เก่งมากๆ ในการครีเอทไอเดียประหลาดขึ้นมา
ทีนี้ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับโดนัทก็มีเรื่องแบบนี้อยู่เรื่องหนึ่งเหมือนกัน..ประมาณว่าไหนๆ โดนัทก็ดูเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากนักอยู่แล้ว ใครบางคนก็เลยพยายามทำให้มันมีประโยชน์ซะเลยว่างั้น..
ร้าน วูดูโดนัท (Voodoo Doughnut) เป็นร้านโดนัทในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในแง่การทำโดนัทที่มีรสชาติอร่อยมาก แต่ทีนี้จะด้วยคิดสูตรใหม่ไม่ออก หรือเป็นแผนการตลาดให้คนรู้จักมากขึ้น หรือเจ้าของร้านเกิดแรงบันดาลใจห่วงเพื่อนมนุษย์ก็ไม่ทราบได้ วันหนึ่งร้านวูดูแห่งนี้ก็ตัดสินใจออกโดนัทขึ้นมาอีก 2 สูตร โดยทั้งสองสูตรนี้อ้างว่ามันคือโดนัทที่ทำหน้าที่เป็น “ยารักษาโรค” ได้ (ซึ่งไม่มีซ้ำกับใครแน่ๆ)
โดย “โดนัทยา “ สองชนิดนี้คือ โดนัทสูตรเคลือบด้วยยาแก้หวัดไนควิล (NyQuil-coated) กับโดนัทสูตรเคลือบยาแก้ท้องเสียหรือปวดมวนท้องเป๊บโตบิสมอล (Pepto Bismot-coated)
โดยสูตรหลังนี้นอกจากจะจุ่มโดนัทลงในยาที่ว่านั้นแล้ว ยังโรยส่วนผสมด้วยยาลดกรดในกระเพราะอาหาร พร้อมโฆษณาว่าเหมาะสำหรับผู้ที่ดื่มหนักและต้องการอาหารย่อยง่ายอีกด้วย
วิจิตรไหมล่ะครับ ไอเดียที่ว่า “เป็นหวัด ปวดท้องไม่ต้องไปหาหมอ แต่มาร้านโดนัท” นั้นนับเป็นไอเดียที่ไม่ธรรมดาของประวัติศาตร์อาหารในโลกใบนี้แน่นอน (ส่วนจะด้วยอารมณ์ไหนว่ากันอีกทีนะ)
แต่..นั่นแหละครับ คนครีเอท(แบบไม่ใช่เรื่อง)มากไป..มักอยู่ยาก เพราะในที่สุดร้านวูดู โดนัทดังกล่าวก็มีอันต้องยกเลิกโดนัท “ยา” ของตัวเองไปหลังจากองค์การอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐเข้ามาตรวจสอบ (และก็น่าจะพบว่ามันไม่ได้ใช้งานรักษาโรคได้ขนาดนั้นจริงๆ)
ซึ่งลึกๆ นวัตกินเราเสียดายอยู่เหมือนกันที่โดนัทยาเหล่านี้ถูกยกเลิกการผลิตไปแล้ว..คือที่เสียดายนี่ไม่ใช่ว่าอยากลองนะครับ..เราอยากเห็นว่าใครกัน (วะ) จะเป็นแฟนคลับของโดนัทยาเหล่านี้ต่างหาก