ความลงตัวของอาหารคีร์กีซสถาน

ความลงตัวของอาหารคีร์กีซสถาน
….
เมื่อเอ่ยถึงคีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan) คิดว่ามีไม่น้อยที่คงทำหน้างงๆ ว่าประเทศนี้อยู่ส่วนไหนของโลก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะประเทศในเอเชียกลางและไม่มีทางออกทะเลแห่งนี้เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่ของสหภาพโซเวียต และเพิ่มได้รับเอกราชเมื่อปี 2534 หรือเกือบ 30 ปีมานี่เอง

แม้ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมทั้งอารยธรรมอิสลามและอารยธรรมจีน หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนคือบะหมี่อัชลันฟู (Ashlan Fu) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและถือเป็นอาหารขึ้นชื่อที่หากใครได้ไปเยือนแล้วไม่ได้ชิมก็จะถือว่ายังไปไม่ถึงดินแดนแห่งนี้

บะหมี่อัชลันฟูเป็นอาหารจานเด่นของคีร์กีซสถานที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน บะหมี่เย็นนี้เสิร์ฟพร้อมน้ำซุปรสจัดจ้านที่หากเป็นฤดูหนาวก็จะอุ่นให้ร้อนขึ้นเพื่อสร้างความอบอุ่น เส้นบะหมี่ผสมผสานกันระหว่างเส้นที่ทำจากแป้งสาลีหนาๆ คล้ายเส้นอุด้งของญี่ปุ่นกับเส้นที่ทำจากแป้งมันหรือแป้งถั่ว (มีเส้นที่ทำจากมันฝรั่งหรือข้าวโพดด้วย) ส่วนผสมของน้ำซุปมีทั้งน้ำส้มสายชูและพริก

เมนูนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักเรียนนักศึกษา เพราะนอกจากจะใส่ไข่และผักที่ช่วยเพิ่มรสชาติแล้ว บะหมี่ชนิดนี้ยังมีราคาย่อมเยา ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณชามละ 15 บาท ทำให้คนมีรายได้น้อยสามารถกินได้ทุกมื้อ ว่ากันว่าบางคนกินบะหมี่อัชลันฟูทั้ง 3 มื้อก็มี
อาหารนี้ไม่ใช่อาหารพื้นเมืองของผู้คนชาวคีร์กีซ แต่มาจากชาวดุงกาน (Dungans) ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวหุยซึ่งชาวมุสลิมเชื้อสายจีนที่อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน (Tien Shan Mountains) ในเอเชียกลางหลังจากทำปฏิวัติล้มเหลวในปี 1877 แม้วัฒนธรรมทางภาษาของชาวดุงกานจะผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาก่อน แต่วัฒนธรรมอาหารของคนกลุ่มนี้กลับยังคงเข้มแข็งจนกลายเป็นจุดเด่นของอาหารคีร์กีซสถานในที่สุด

….

มีตำนานเล่าว่าในศตวรรษที่ 7 นักรบชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าไปทางตะวันตกของประเทศจีน จักรพรรดิจีนในเวลานั้นต้องการให้คนเหล่านั้นเป็นกำลังสำคัญในการทำสงคราม จึงยกผู้หญิงจีนให้เป็นภรรยา นับแต่นั้นมาก็เกิดการผสมผสานกันของผู้คนและวัฒนธรรมมาตลอดพันปี

เมื่อราชวงศ์ชิงสถาปนาขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 พร้อมกับนโยบายแบ่งแยกทางศาสนาและชาติพันธุ์ ทำให้ชาวมุสลิมทางตะวันตกของจีนไม่พอใจและนำไปสู่การปะทะกันบ่อยครั้ง ส่งผลมีผู้คนล้มตายนับล้านคน
หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าปี 1878 เป็นปีแรกที่ชาวดุงกานอพยพเข้าสู่รัสเซียราว 10,000 คน

แม้จะมีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากความหนาวเย็นระหว่างเดินทางข้ามเทือกเขาเทียนชาน แต่คนที่เหลือซึ่งได้รับอนุญาตจากทางการรัสเซียให้อยู่อาศัยในแถบชายแดนเอเชียกลางได้ก็ตั้งถิ่นฐานพร้อมนำความรู้ทางการเกษตรและการค้าขายมาประกอบอาชีพเลี้ยงตัว ชนพื้นเมืองชาวคีร์กีซเองก็ให้การต้อนรับ “คนจากตะวันออก” เหล่านี้อย่างเต็มใจ นี่จึงเป็นก้าวแรกที่บะหมี่อัชลันฟูปรากฏตัวขึ้นนอกแผ่นดินจีน

ปี 1897 หรือ 20 ปีหลังจากชาวดุงกานกลุ่มแรกอพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน นักเดินทางชาวรัสเซียคนหนึ่งได้เขียนบันทึกว่า “อาหารชาวดุงกานพิเศษมาก ส่านใหญ่เป็นบะหมี่ที่ทำจากแป้งสาลีหรือแป้งถั่ว รสชาติเผ็ดจัดจ้านด้วยพริก หอมใหญ่ กระเทียม น้ำส้มสายชู เกลือ หัวไชเท้าและแตงกวา”

แม้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวดุงกานจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่วัฒนธรรมอาหารยังหนักแน่นและแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย พวกเขายังคงใช้ตะเกียบ เรียกอาหารและการปรุงด้วยคำภาษาจีนอยู่เช่นเดิม เช่นเดียวกับการทำบะหมี่ด้วยมืออย่างพิถีพิถันเพื่อให้ได้เส้นบะหมี่ยาวตามคติของคนจีนที่ว่ายิ่งบะหมี่ยาวก็ยิ่งอายุยืน จนกล่าวได้ว่าขณะที่ชาวดุงกานรับเอาภาษาและวัฒนธรรมรัสเซียมาใช้ ก็เป็นชาวรัสเซียนั่นเองที่รับเอาอาหารดุงกานโดยเฉพาะบะหมี่อัชลันฟูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารอันโดดเด่นไปแล้ว

Related Posts