Articles
698
“พระจันทร์ ฤดูกาล และความหมายของอาหารในเทศกาลบูชาทั่วโลก ”
HARVEST MOON FOOD
🥮🙏🏻ขนมไหว้พระจันทร์..สตูว์ลูกโอ๊ก..ขนมปังคนตาย..กุหลาบจามูน..ลูชีและชักโต..ขนมศักดิ์สิทธิ์ Turrón de Doña Pepa ..ขมมพอง..ขนมลา..ปีดา..การันจี..เกี่ยวข้องอะไรกัน ทำไมอาหารเหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกินในช่วงจังหวะธรรมชาติและฤดูกาลเดียวกัน….
เทศกาลไหว้พระจันทร์..เดินทางมาถึงพวกเราอีกครั้งแล้วนะครับ และเมื่อถึงเทศกาลนี้ เชื่อว่าพวกเราย่อมต้องนึกถึง ‘ขนมไหว้พระจันทร์’ กันอย่างแน่นอน (ใช่มั๊ย)
แต่อย่างไรก็ตาม บทความของเราในวันนี้อยากเล่าให้ฟังว่า บนโลกนี้ไม่ได้มีแต่เราๆ นะครับ ที่พอถึงช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม (หรือช่วงฤดูกาลก่อนหนาวที่เรียกกันว่า Mid Autumn) แล้วจะมีอาหารหรือขนมอร่อยๆ ทานกัน เพราะจริงๆ แล้วในช่วงฤดูกาลเดียวกันนี้เอง ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกชนชาติอื่นต่างก็มีเรื่องราวของ ‘อาหาร’และ ‘เทศกาลบูชาขอบคุณ’ บางสิ่งบางอย่างเหมือนกันกับเราครับ
ดังนั้น เทศกาลไหว้พระจันทร์ปีนี้ ‘นวัตกิน’ ขอนำเรื่องเล่าและเรื่องราวความเกี่ยวข้องของ “อาหาร ฤดูกาล ความเชื่อ’ และ “เทศกาลของพระจันทร์’ จากหลายๆ แห่งทั่วโลกมาเล่าสู่กันฟังครับ
มาดูกันครับว่า “ขนมและอาหาร” ของที่ต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร พวกเขาไหว้อะไรกัน มันเกี่ยวอะไรกับ ‘พระจันทร์’ และทำไมการบูชาเหล่านี้ต้องเป็นช่วงเดียวกันของปีด้วย
………..
“ฤดูใบไม้ร่วงคือช่วงเวลาการเฉลิมฉลอง”
(Mid-Autumn Festival)
เคยสังเกตไหมครับว่าในแต่ละปี ช่วงที่อากาศเริ่มร้อนขึ้น กับช่วงที่มีลมหนาวมา มักจะเกิดขึ้นในเวลาเดิมๆ เหมือนกันทุกปี อาจมีเร็วขึ้นหรือช้าลงบ้าง แต่ก็คลาดเคลื่อนไม่มาก นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ฤดูกาล” หรือ จังหวะของธรรมชาติ
ในอดีตนั้น มนุษย์เราเรียนรู้จังหวะธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลแล้วก็หาทางปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดครับ ในขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ว่าจำนวนของ “อาหาร” ทั้งพืชและสัตว์นั้นต่างๆ ก็เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติด้วย โดยเรามีความเชื่อกันว่ามี “พลังพิเศษบางอย่าง” คอยกำกับความเป็นไปเหล่านั้น ตรงนี้เองครับ จึงเป็นที่มาของพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อ “ขอบคุณ” พลังพิเศษที่ทำให้เรามีกิน
ทำไมต้องฤดูใบไม้ร่วง…
ถ้าดูตามวงรอบของปี เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน มนุษย์เราก็จะปลูกพืชผลต่างๆ เพราะองค์ประกอบอย่างอากาศ น้ำและแสงแดดอำนวย แล้วก็มาเก็บเกี่ยวกันเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงครับ
ดังนั้น ถ้าไม่มีภัยธรรมชาติมาสร้างความเสียหาย ก็ย่อมได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย และอุ่นใจได้ว่าเราจะผ่านฤดูหนาวอันแสนทรมานที่กำลังจะมาถึงไปได้ โดยมีอาหารกินไปจนกว่าจะถึงฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่
ทำไมต้องพระจันทร์..
มนุษย์ในหลายวัฒนธรรมบนโลกนี้ผูกพันกับพระจันทร์ครับ เห็นได้ง่ายๆ ก็คือมีการใช้ปฏิทินจันทรคติที่นับการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์เพื่อกำหนดเวลาสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ และในอารยธรรมโบราณอย่างกรีก-โรมัน ถึงอินเดียและจีน หรือแม้แต่ชาวพื้นเมืองในอเมริกานั้นก็ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับดวงจันทร์ ทั้งในแง่ของการเป็น “ปฏิทินธรรมชาติ” และทั้งการเชื่อมโยงดวงจันทร์เข้ากับความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร การล่าสัตว์ หรืออารมณ์ปรารถนา
ดังนั้น ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บ้านเรามีเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ ในที่อื่นๆ ทั่วโลกเราจึงเห็นการเฉลิมฉลอง ที่เรียกกันว่า “การเฉลิมฉลองกลางฤดูใบไม้ร่วง” (mid-autumn festival) หรือเทศกาลบูชาพระจันทร์เต็มดวงที่เรียกกันว่า Moon Festival หรือ Harvest Moon Festival เกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายๆ กันครับ
และแน่นอนว่า..
ทุกเทศกาลทั่วโลกนั้นต่างก็มี “อาหารแห่งเทศกาล” เป็นหัวใจสำคัญของงานด้วย
1. เทศกาลไหว้พระจันทร์ และความหมายต่างๆ ในขนมไหว้
เริ่มอย่างแรกที่เทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีน เทศกาลนี้เกิดขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วงเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว โดยกำหนดให้จัดงานในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน เพื่อบูชา “พระจันทร์เพ็ญ” อันเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข ความมั่งคั่งและความอบอุ่นที่สมาชิกในครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า
นอกจากจีนแล้ว ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือเวียดนามก็จัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกรด้วย
“ขนมไหว้พระจันทร์” ถือสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้ โดยเป็นขนมที่มีสันฐานกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้ง มีไส้ที่เป็นธัญพืชต่างๆ เช่น เมล็ดบัว แมคคาเดเมีย พุทราจีน ลูกพลัม เกาลัด เป็นต้น
ในปัจจุบันเรามีการดัดแปลงขนมไหว้พระจันทร์ทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาให้ดูทันสมัยหลากหลายไส้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการสร้างความหมายให้กับวัตถุดิบที่นำมาทำขนมไหว้พระจันทร์ เช่น
เกาลัด หมายถึง ลูกชายและสิ่งอันเป็นที่รัก
ธัญพืช หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ
ลูกพลัม หมายถึง ความหวังและความกล้าหาญ
เม็ดบัว หมายถึง อายุยืนยาวและความสงบสุข
ส่วนสิ่งของที่นำมา “ไหว้” พระจันทร์ ก็มีความหมายในลักษณะคล้ายกัน เช่น ทับทิม ที่มีเมล็ดมากมาย หมายถึง การมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของครอบครัวชาวจีนในอดีตที่ต้องมีกำลังคนมากๆ
2. เทศกาลทุรคาบูชา (Durga Puja) แกงผักหลากหลายและอาหารมังสวิรัติ
ทุรคาบูชา นี้เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่ “พระราม” ได้สังหารอสูรราวณะ (ทศกัณฐ์) และยังเป็นวันที่พระแม่ทุรคาเอาชนะมหิงสาสูรด้วย
โดยการเฉลิมฉลองนั้นจะมีขบวนแห่เทวรูปต่างๆ ทั้งพระนางทุรคา พระลักษมี พระสุรัสวดี พระกรรติเกยะหรือพระขันธกุมร และพระพิฆเณศ แต่เดิมเทศกาลนี้เกิดขึ้นในบังคลาเทศและพื้นที่บางส่วนของประเทศอินเดีย โดยกำหนดจัดขึ้นในเดือนที่เรียกกว่าเดือน “อัศวิน” หรือช่วงราวเดือนกันยายน-ตุลาคม
อาหารตลอดช่วงเทศกาลนี้ คือ “มังสวิรัติ” โดยจะไม่มีการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่จะมีอาหารมังสวิรัติให้เลือกหลากหลายมากมาย เช่น
ลูชี (Luchi) เป็นขนมแผ่นแบนๆ ทำจากแป้งไมดาซึ่งเป็นแป้งสาลีชนิดหนึ่ง นำไปทอดในน้ำมันกินกับเครื่องเคียงที่เป็นผักปรุงรสด้วยเครื่องเทศต่างๆ
ชักโต (Shukto) เป็นแกงผักรสออกไปทางขมๆ มีกลิ่นแรง ปรุงด้วยน้ำมันมัสตาร์ด เครื่องเทศ ขิงและพริก และใส่ถั่วเลนทิลปั้นเป็นก้อนทอดอีกด้วย
และอีกเมนูหนึ่งสำหรับเทศกาลนี้คือ อาลู โปตอล ปอสโต (aloo potol posto) เป็นแกงกะทิที่ทำจากบวบป้อม (potol) มันอาลู (aloo—คล้ายๆ มันฝรั่ง แต่บางคนว่ารสชาติดีกว่า) ใส่เมล็ดฝิ่นและพริกแกงเขียว
3. เก็บลูกโอ๊กมาทำสตูว์ ตอติญา และเค้กในเทศกาลลูกโอ๊กของชาวมีวอก
ชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่ามีวอก (Miwok หรือ มิวัก-Miwuk) อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียนับพันปีมาแล้ว ต่อมาแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่เชิงเขาเซียร์ราเนวดา และหุบเขาแซคราเมนโต ซึ่งดินแดนเหล่านี้มี “ต้นโอ๊ก” สูงใหญ่ให้ทั้งร่มเงา และยังมีลูกโอ๊กหรือแอครอน (acron) ที่นำมาเป็นอาหารได้ด้วย
ดังนั้น ทุกปี ในปลายเดือนกันยายน ทุกครอบครัวจะมารวมกันเพื่อในเทศกาลเก็บเกี่ยวลูกโอ๊กประจำปีที่จัดขึ้นเป็นเวลา 4 คืน มีการประกอบพิธีกรรม การร้องเพลงและการเต้นรำต่างๆ ปัจจุบันเพิ่มการละเล่นและการเล่าเรื่องของชนเผ่าเข้าไปด้วย
ทั้งนี้ ลูกโอ๊กมีคุณค่าโภชนาการสูง แต่ต้องนำไปล้างน้ำให้สารแทนนินที่ทำให้เกิดความฝาดหมดไปเสียก่อน จากนั้นจึงนำมาทำอาหารหลายๆ อย่าง เช่น สตูว์ลูกโอ๊ก ขนมปังและเค้กลูกโอ๊ก เป็นต้น ส่วนในช่วงที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองจะมีการทำขนมปังทอด หรือ frybread กินกับน้ำผึ้ง แยมหรือน้ำตาลผงละเอียด หรือนำลูกโอ๊กมาบดแล้วทำเป็นแผ่นแบบตอติญาก็ได้
4. เทศกาลพระคริสต์แห่งปาฏิหาริย์ และขนมศักดิ์สิทธิ์ Turrón de Doña Pepa
เทศกาลนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาสเปนว่า El Señor de los Milagros ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลทางศาสนาที่สำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของประเทศเปรู และยังเป็นหนึ่งในขบวนแห่ของชาวคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
เทศกาล El Señor de los Milagros จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองภาพวาดพระเยซูคริสต์ที่วาดขึ้นโดยทาสชาวแองโกลาเมื่อ ค.ศ.1655 ซึ่งเป็นที่สักการะของผู้คนจำนวนมากเพราะถือว่าภาพวาดดังกล่าวมีความศักดิ์สิทธิ์
เล่ากันว่า..ครั้งหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวจนทำให้หอสวดมนต์ได้รับความเสียหายเกือบหมด เหลือเพียงผนังด้านที่มีภาพวาดกลับไม่เป็นอะไรเลย ต่อมาจึงเกิดเทศกาลเฉลิมฉลองที่มีผู้เข้าร่วมงานนับพันคน ทุกคนต่างสวมเสื้อผ้าสีม่วงซึ่งเป็นสีของเดือนตุลาคม
อาหารขึ้นชื่อของเทศกาลนี้ คือ Turrón de Doña Pepa ซึ่งเป็นขนมนูกัต (nougat) คล้ายๆ ตังเม มีตำนานกล่าวว่าโยเซฟา มาร์มานิญโญ เคยเป็นทาสแขนพิการ ต่อมาได้รับอิสระและได้ได้บนบานขอให้หายเป็นปกติ ซึ่งปรากฏว่าเธอหายดีอย่างน่าอัศจรรย์ นับจากนั้นเธอก็ทำขนมหวานขึ้นมาถวายเพื่อเป็นการขอบคุณที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้เธอพ้นความทรมาน
5. เทศกาลวันแห่งความตาย..ขนมปังคนตาย กะโหลกน้ำตาล และช่วงวันที่ห้ามร้องไห้
เทศกาลนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาสเปนว่า Dia de los Muertos ซึ่งมีกำเนิดในเม็กซิโกและในเวลาต่อมาแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคละตินอเมริกา
ในช่วงเทศกาลนี้ผู้คนจะจัดพิธีรำลึกถึงบุคคลผู้เป็นที่รักที่ล่วงลับไป โดยจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ซึ่งนับว่าเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงแล้ว มีทั้งการรำลึกถึงผู้ตาย การเฉลิมฉลองการมีชีวิต ซึ่งกล่าวกันว่าชีวิตและความตายนั้นเป็นของคู่กันของมนุษย์ทุกคน
ในเทศกาลนี้แต่เดิมห้ามผู้ใดร้องไห้เด็ดขาด เพราะถือว่าน้ำตาจะทำให้เส้นทางที่วิญญาณเปียกชื้นและลื่นจนไม่อาจมาสู่โลกนี้ได้ ขณะเดียวกันในระหว่างเทศกาลจะมีการประดับตกแต่งแท่นบูชาด้วยหัวกะโหลกทำด้วยน้ำตาล ดอกดาวเรือง จุดเทียนรำลึกถึงผู้ตาย ทำอาหารที่ผู้ตายชื่นชอบและไปทำความสะอาดหลุมศพ
แน่นอนครับ “อาหาร” ที่เกิดขึ้นในเทศกาลนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “กะโหลกน้ำตาล” ที่ทำขึ้นอย่างประณีต มีสันสดใส เป็นตัวแทนของชีวิต
ขณะเดียวกันก็จะมีการอบขนมปังรสชาติไม่หวานมาก ซึ่งเรียกว่า “ขนมปังคนตาย” (Pan de Muertos) ทำเป็นก้อนกลมๆ แต่งด้วยแป้งให้ดูเหมือนกระดูก หรือบางทีก็ทำเป็นรูปคนนอนเอามือประสานกันบนหน้าอก ซึ่งขนมปังชนิดนี้หลังจากอบแล้วจะโรยด้วยน้ำตาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์
ของดิน
6. ขนมกุหลาบจามูน ในเทศกาลทิวาลี (เทศกาลแห่งแสงสว่าง)
เทศกาล “ทิวาลี” หรือบางครั้งเรียกว่าเทศกาลทีปวลี คือเทศกาลแห่งแสงสว่า งซึ่งมีกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียและถือเป็นเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งของผู้นับถือศาสนาฮินดู เชนและศาสนาสิกข์ โดยมีกำหนดจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วันในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนตามปฏิทินจันทรคติแบบฮินดู
เทศกาลนี้เป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่างเหนือความมืด ความดีเหนือความชั่ว และยังเชื่อมโยงถึงการที่พระรามและนางสีดากลับคืนสู่นครหลังจากถูกขับให้ต้องเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี (รวมถึงชัยชนะเหนือทศกัณฐ์)
ในช่วงเทศกาลผู้คนจะมีการจุดเทียนบนตะเกียงดินเผา (diya) ที่พื้นหน้าบ้านมีการตกแต่งด้วยรังโกลี (rangoli) ซึ่งเป็นลวดลายสีสันสดใสทำด้วยข้าว ทรายหรือผงแป้งผสมสีต่างๆ ขณะเดียวกันสัตว์ต่างๆ ก็จะได้รับการประดับดาด้วยดอกดาวเรืองอย่างสวยงาม โดยเฉพาะสุนัขที่ถือกันว่าเป็นผู้นำสารของพระยม (Yamaraj) เทพแห่งความตายในศาสนาฮินดู อีกด้วย
ส่วนอาหารที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้จะเป็นพวกขนม ได้แก่
“กุหลับจามัน” หรือที่บางคนเรียกว่า กุหลาบจามุน (gulab jamun) ที่เป็นแป้งหมักผสมนมปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วทอดในเนยฆี (ghee) แล้วใส่ในน้ำเชื่อมที่ผสมลูกกระวานและน้ำดอกไม้เทศ
นอกจากนี้ยังมี ขนมปีดาหรือปีดะ (peda) ทำจากเนยข้น น้ำตาล ผสมถั่วพิตาชิโอ กระวาน บางทีอาจแต่งสีสันด้วยหญ้าฝรั่น (saffron)
และขนมการันจี (karanji) ซึ่งดูหน้าตาคล้ายๆ กะหรี่ปั๊บบ้านเราทำจากแป้งหมัก มีไส้เป็นมะพร้าว น้ำตาลหรือผลไม้
7.ขนมสำคัญ 5 ชนิดในประเพณีสารทเดือนสิบ
ประเพณีนี้เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ของไทย เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ
ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับการปล่อยตัวจากนรกภูมิมายังโลก ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ จากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
โดยในเทศกาลนี้ ชาวบ้านจะเตรียม “หฺมฺรับ” ที่เป็นภาชนะจำพวกกระบุงกระจาดใส่ข้าวของต่างๆ ลงไป เช่น ข้าวสาร ตามด้วยหัวหอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล อาหารแห้งเช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม และผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักเขียว ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น มัน ลางสาด เงาะ ลองกอง กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ เป็นต้น
จากนั้นจึงใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้ายและเครื่องเชี่ยนหมาก
ที่สำคัญคือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมายในตัวเอง ได้แก่
“ขนมพอง” เป็นสัญลักษณ์แทนแพ ให้ผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
“ขนมลา” แทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมกงหรือขนมไข่ปลาแทนเครื่องประดับ
“ขนมดีซำ” แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย
“ขนมบ้า” แทนลูกสะบ้าซึ่งเป็นเครื่องเล่นอย่างหนึ่ง
และบางท้องถิ่นยังเพิ่ม “ขนมลาลอยมัน” ซึ่งใช้แทนฟูกหมอนเข้าไปด้วย
….
อย่างที่บอกครับ , มนุษย์เราอยู่กับธรรมชาติ และเรียนรู้วงจรหรือปฏิทินธรรมชาติจนกลายเป็นประเพณี พิธีกรรมและเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงที่มีความสำคัญทั้งในแง่การเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร การรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักหรือเหตุการณ์สำคัญๆ ในตำนานศาสนา
ที่สำคัญคือพิธีกรรมเชื่อมโยงกับอาหาร ที่เป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ ความรักสามัคคีกลมเกลียวกันในครอบครัว การศรัทธาและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางศาสนา รวมถึงการระลึกถึงผู้เป็นที่รักแม้จากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
เทศกาลไหว้พระจันทร์และเทศกาลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใน “ฤดูใบไม้ร่วง” นั้นจึงทำให้เรามองวัฒนธรรมในมุมที่กว้างขึ้น เห็นวิถีชีวิตมนุษย์ที่ผูกพันกับธรรมชาติที่งดงาม แฝงด้วยความหมายลึกซึ้งตลอดไป
แหล่งข้อมูล
https://saturncafe.com/7-autumnal-traditions-cultures-around-world/
https://moneywise.com/a/incredible-autumn-festivals-from-around-the-world
https://www.independent.co.uk/life-style/mid-autumn-festival-east-asia-harvest-moon-celebrate-when-is-it-mooncakes-lanterns-a8552276.html
http://www.chinadaily.com.cn/culture/2014-09/05/content_18548975.htm
https://th.wikipedia.org/wiki/ประเพณีสารทเดือนสิบ
https://www.sanook.com/horoscope/69721/
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=13&chap=8&page=t13-8-infodetail09.html
https://www.sac.or.th/databases/rituals/definition.php