ความยิ่งใหญ่ของ 5 เครื่องเทศ พริกไทย ขิง อบเชย ลูกจันทร์ และหญ้าฝรั่น

ความยิ่งใหญ่ของ 5 เครื่องเทศ
พริกไทย ขิง อบเชย ลูกจันทร์ และหญ้าฝรั่น

…………..

ทำมัมมีต้องใช้อบเชย…กรุงโรมรอดมาได้เพราะพริกไทย…จันทน์เทศกับการเป็นยานานาชาติ…พระราชินีอังกฤษกับขนมปังขิง…ภาพวาด 2,000 ปี หญิงสาวกับหญ้าฝรั่น

สวัสดีครับ “นวัตกิน” วันนี้ พาคุณๆ ไปรู้จักกับ เครื่องเทศ” ที่หลายๆ คนอาจจะดูว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ พื้นๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญหรือมีราคาค่างวดสักเท่าไหร่
ยิ่งสำหรับเมืองร้อนชื้นอย่างบ้านเราที่มีสภาพที่เครื่องเทศเติบโตได้ดีนั้น เรามีเครื่องเทศดาษดื่นเหลือกินจนอาจไม่เห็นมูลค่า ซึ่งสิ่งนี้ต่างกันอย่างลิบลับกับความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในดินแดนที่เครื่องเทศเป็นสิ่งหายาก

ว่ากันในอดีตยาวนานนั้น เครื่องเทศเป็นสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตพวกเรามากเพราะมันเป็นทั้งยารักษาโรคและเป็นทั้งเครื่องปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติอาหารของมนุษย์มาตลอด
โดยในประวัติศาสตร์ เครื่องเทศหลายชนิดเคยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจจนนำไปสู่การแข่งขัน การผูกขาดและการปิดบังแหล่งกำเนิดมาแล้ว นอกจากนี้ ยังกล่าวได้อีกด้วยว่าความต้องการเครื่องเทศที่มีมากขึ้นนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชาวยุโรปออกเดินทางสำรวจโลกเมื่อกว่า 500 ปีมาแล้วด้วย

ดังนั้น วันนี้มารู้จักกับ “ความยิ่งใหญ่ของเครื่องเทศ” กันหน่อยดีกว่าครับว่าเครื่องเทศต่างๆ ที่เราเห็นกันง่ายๆ ทั่วไปนั้น ในอดีตแล้วมันเคยเป็นสิ่งที่สำคัญและมีบทบาทในชีวิตผู้คนอย่างไรบ้าง

กรุงโรมรอดมาได้เพราะ “พริกไทย”

การทำสงครามในอดีตไม่ว่าทุกครั้งจะมุ่งทำลายชีวิตหรือบ้านเมืองฝ่ายตรงข้าม

แต่บ่อยครั้งที่เป็นการทำสงครามเพื่อหา “รายได้” ในรูปของค่าไถ่จากการลักพาตัวคนสำคัญหรือปิดล้อมเมืองให้อีกฝ่ายอ่อนแรง พร้อมยื่นข้อเสนอว่าถ้าจะไถ่ตัวประกันคืนไปหรือจะให้ยอมถอยทัพไปก็ต้องยอมจ่ายค่าไถ่มาซะดีๆ โดยสิ่งที่เป็นค่าไถ่ในเวลานั้นก็มีตั้งแต่เงินทองของมีค่าต่างๆ เสบียงอาหาร รวมถึงช้าง ม้า อาวุธ และอื่นๆ ที่มีมูลค่า

และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีการเรียกค่าไถ่เป็น “พริกไทย” (pepper) ครับ

ถูกต้อง พริกไทยจริงๆ ครับ , ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพริกไทยจัดเป็นเครื่องเทศที่มีความสำคัญและเป็นสินค้าสำคัญที่ซื้อขายกันระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกมานาน ทั้งในฐานะยารักษาโรคและเครื่องปรุงในอาหารต่างๆ และเพราะมีมูลค่าสูงนี้เองที่ทำให้พริกไทยถูกใช้เป็นเงินตราด้วย ดังเห็นได้จากบางแห่งในยุโรปจ่ายค่าเช่าและภาษีในรูปของพริกไทยก็มี

ขณะเดียวกันจักรวรรดิโรมันก็ต้องการพริกไทยดำจากอินเดียจำนวนมาก จะเรียกว่ามากกว่าเครื่องเทศทุกชนิดรวมกันก็ได้ ซีซาร์หลายๆ พระองค์ถือว่าพริกไทยมีความสำคัญเหมือนเงินตรา ว่ากันว่าซีซาร์หลายๆ พระองค์โปรดให้เก็บพริกไทยจำนวนมหาศาลไว้ในท้องพระคลังเพื่อความปลอดภัยเลยทีเดียว

ครั้งหนึ่ง “แอตติลา ชาวฮั่น” (Attila the Huns) ผู้ปกครองชนเผ่าในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งขึ้นชื่อในความทารุณโหดร้ายถึงมีสมญาว่า “เทพแห่งหายนะ” หรือ “แส้ของเทพเจ้า” (Flagellum dei)

แอตติลานับเป็นศัตรูที่อันตรายที่สุดในปลายสมัยจักรวรรดิโรมัน เขายกทัพมาเพื่อจะปล้นกรุงโรมซึ่งขณะนั้นถือว่าอ่อนแอมาก และระหว่างปิดล้อมอยู่นั้น แอตติลาก็ยื่นข้อเสนอว่าถ้าจะให้เขายกเลิกการปิดล้อมและถอยทัพกลับไปโดยไม่ปล้นกรุงโรมละก็ต้องจ่ายค่าไถ่เป็นพริกไทยน้ำหนัก 3,000 ปอนด์ ซึ่งแน่นอนผู้ปกครองกรุงโรมในเวลานั้นก็ต้องยอมจ่าย เพื่อรักษาบ้านเมืองและผู้คนเอาไว้นั่นเอง

#เกร็ดนวัตกิน :
พริกไทยดำนั้นไม่ได้มีสีดำอยู่แล้ว แต่ได้จากการนำพริกไทยแก่สีเขียวแต่ยังไม่สุกมาตากแดดให้แห้งจนผิวเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ส่วนพริกไทยขาว(หรือพริกไทยล่อน) ก็ไม่ได้มีสีขาวเช่นกัน แต่ได้จากการนำพริกไทยแก่จัดสีเหลืองหรือสีส้มมาใส่กระสอบแช่น้ำให้เปลือกยุ่ยแล้วทุบเบาๆ จนเปลือกนอกล่อนและหลุดออก เหลือแต่เมล็ดสีขาว-เทา พริกไทยดำกลิ่นหอมแรงกว่าพริกไทยขาว เพราะยังมีน้ำมันหอมระเหยเหลืออยู่มากกว่า

ทำมัมมีต้องใช้ “อบเชย”

การทำศพดองหรือการทำมัมมี (mummification) นั้นคือการรักษาศพไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย หลายวัฒนธรรมในโลกเรามีการทำมัมมี โดยขั้นตอนที่ซับซ้อนนั้นเต็มไปด้วยพิธีกรรมทางความเชื่อ การใช้วิทยาการโบราณ สารเคมี และเครื่องเทศหลายๆ อย่างประกอบ

ซึ่งหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญเหล่านั้น คือ อบเชย (cinnamon)

ในกระบวนการทำมัมมี ศพจะถูกชำระล้างทำความสะอาด แล้วนักบวชที่สวมหน้ากากเทพอนูบิส (Anubis) และเทพโอซิริส (Osiris) จะใช้เหล็กแหลมแทงเข้าไปทางรูจมูกเพื่อคว้านเอาสมองทิ้งไป จากนั้นจะผ่าช่องท้องด้านซ้ายเอาเครื่องในออกมา เก็บไว้เพียงหัวใจซึ่งคนอียิปต์เชื่อว่าสำคัญที่สุดเอาไว้กับร่าง

เครื่องในที่นำออกมาจะล้างทำความสะอาดด้วยไวน์และเครื่องเทศ แล้วนำไปบรรจุในโถ 4 ใบที่มีฝาโถเป็นศีรษะโอรสทั้ง 4 องค์ของเทพฮอรัส

ส่วนช่องท้องที่ว่างเปล่าจะใช้ห่อเกลือ “นาตรอน” (ประกอบด้วยสารเคมีหลายอย่าง รวมทั้งโซเดียมคาร์บอเนตกับโซเดียมไบคาบอร์เนตหรือเบกกิ้งโซดา) กับยางไม้ยัดเข้าไปเพื่อดูดความชื้น ขั้นตอนนี้้ใช้เวลา 40 วัน เมื่อครบกำหนดก็จะนำห่อเกลือที่ว่านั้นออกมา แล้วเย็บปิดช่องที่ท้องด้านซ้ายให้เรียบร้อย จากนั้นจึงใช้ผ้าลินินค่อยๆ พันศพเป็นชั้นๆ พร้อมแทรกเครื่องรางที่เชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองวิญญาณให้เดินทางไปสู่ปรโลกโดยปราศจากอุปสรรค ขั้นตอนการพันผ้าลินินนี้ใช้เวลา 30 วัน ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ที่พูดมานี่เฉพาะมัมมีชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะนะครับ คนรายได้น้อยก็ต้องทำใจ ถ้าอยากทำก็ต้องเลือก option ราคาถูกลง ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดของขั้นตอนต่างๆ ก็ถูกลดลงไปด้วย แบบง่ายที่สุดก็คือการฉีดน้ำมันสนเข้าไปในร่างกายโดยไม่ต้องเจาะผ่าอะไร เครื่องในทั้งหมดจะกลายเป็นของเหลว ศพจะถูกนำไปแช่ในเกลือนาตรอนเป็นเวลา 70 วันจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดู

จากที่เล่ามา จะเห็นว่าเครื่องเทศมีบทบาทมากในขั้นตอนที่สำคัญของการทำมัมมีอย่างกระบวนการชำระล้างเครื่องในอวัยวะให้สะอาด โดย “อบเชย” นั้นเป็นหนึ่งในเครื่องเทศหลักหลายๆ ชนิดที่ถูกนำมาใช้ เพราะอบเชยมีน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณช่วยขจัดกลิ่น ทั้งยังมีคุณสมบัติที่ดีมากในการต่อต้านแบคทีเรียซึ่งจะทำให้เกิดการเน่าเสียของมัมมี่ขึ้นมาได้ นั่นเอง

#เกร็ดนวัตกิน :
ในอินเดีย อบเชยเป็นส่วนประกอบในเครื่องเทศผสมที่เรียกว่าการัม มาสาลา (garam masala) ส่วนชาวตะวันตกใช้อบเชยในอาหารหลายชนิด รวมทั้งขนมอบที่เรียกว่า cinnamon roll ขณะที่คนไทยนิยมเรียกอบเชยว่า “ไม้พะโล้” เพราะมักใส่เปลือกอบเชยร่วมกับเครื่องปรุงอื่นๆ ในหม้อต้มพะโล้

จันทน์เทศ ยารักษาอเนกประสงค์

ลูกจันทน์ (nutmeg) คือ เมล็ดภายในผลจันทน์เทศ ส่วนดอกจันทน์ (mace) คือ “รก” หรือเยื่อหุ้มเมล็ดที่ห่อหุ้มเมล็ดจันทน์ที่กลางผล

ลูกจันทน์นั้นถูกใช้เป็นตัวยารักษาโรคอเนกประสงค์ ทั้งในอินเดีย อาหรับ จีนและอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยชาวจีนใช้เป็นยารักษาอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
ชาวอินเดียและชาวอาหรับใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร บำรุงตับและบำรุงผิวพรรณ ชาวอินโดนีเซียใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย แก้นอนไม่หลับ แก้ปวดข้อและกระดูก

ส่วนตำรายาไทยนั้น พบว่ามีการใช้ลูกจันทน์ในยาหลายตำรับ เช่น ยาหอมเทพจิตร และ ยาหอมนวโกฐ ที่ใช้แก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน

นอกจากนี้ยังพบใน ยาธาตุบรรจบ และ ยาประสะกานพลู ที่ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ ยาแก้ลมอัมพฤกษ์ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ชามือ ชาเท้า และยาเลือดงาม ที่บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกต

และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังพบว่าลูกจันทน์มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย มีคุณสมบัติต้านการอักเสบเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ข้ออักเสบ เป็นต้น มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย อย่างเชื้อ อี.โคไล รวมถึงมีสารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

#เกร็ดนวัตกิน :
ลูกจันทน์ยังเป็นพระเอกในเครื่องดื่มของเทศกาลคริสต์มาสต์ด้วย นั่นคือ “เอ็กน็อก” (eggnog) ที่มีกลิ่นลูกจันทร์เป็นเอกลักษณ์ โดยตามสูตรจะใส่ลูกจันทร์ป่นลงไปส่วนผสมที่ประกอบด้วยนมกับไข่และเครื่องเทศอื่นๆ เช่น อบเชย วานิลา รวมกับเหล้ารัมและเบอร์เบิน ทำให้เครื่องดื่มสำหรับวันหยุดในเทศกาลนี้เพิ่มความอบอุ่นได้อย่างน่าอัศจรรย์

พระราชินีอังกฤษกับขนมปังขิ

ว่ากันว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษโปรดของหวานมากๆ อาหารชั้นเลิศที่ขึ้นโต๊ะเสวยนั้นล้วนแต่แสดงความมั่งคั่งและอำนาจของอังกฤษ

อย่างกรณีของน้ำตาลที่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่นำเข้าจากต่างแดน สมเด็จพระราชินีนาถโปรดพระราชทานน้ำตาลแก่เชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นสูงอันเป็นการแสดงอำนาจของพระองค์อีกด้วย โดยในราชสำนักอังกฤษ น้ำตาลนอกจากใช้ปรุงแต่งรสอาหารแล้ว ยังใช้ประดับตกแต่งจานอาหารโดยนำมาเคี่ยวกับไข่และเจลาตินแล้วทำเป็นรูปร่างๆ เช่น เบคอน ลูกวอลนัต ไข่ เป็นต้น

ส่วนขิง (ginger) นั้นก็เป็นของโปรดขององค์ราชินีเช่นกัน โดย “ขิงเชื่อมตากแห้ง” เป็นหนึ่งในขนมหวานที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงโปรดเป็นพิเศษ ส่วน “ขนมปังขิง” (gingerbread) นั้นก็เช่นกัน ว่ากันว่ามีกำเนิดในแผ่นดินของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 นี่เสียด้วย

แม้เราจะมีข้อมูลว่ามีขนมปังผสมขิงรูปร่างต่างๆ วางจำหน่ายในงานออกร้านหรือตลาดนัดทั่วยุโรปมาตั้งแต่สมัยกลางแล้วก็ตาม แต่ขนมปังขิง “รูปคน” ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถโปรดให้ทำขึ้นนี้ถือว่ามีเอกลักษณ์ คือ มีรูปร่างหน้าตาและการแต่งเนื้อแต่งตัวเหมือนกับคนที่พระองค์จะพระราชทานขนมให้เสียด้วย

นอกจากนี้ ตุ๊กตาขนมปังขิงยังเป็นเครื่องรางของความรัก หญิงสาวอังกฤษจึงนิยมกินขนมปังขิงตัว “ผู้ชาย” และหวังว่าตนจะพบเนื้อคู่เข้าสักวัน ต่อมาในอังกฤษสมัยวิกตอเรีย ก็เกิดธรรมเนียมแขวนตุ๊กตาขนมปังขิงผู้ชายไว้บนต้นคริสต์มาสอีกด้วย และแน่นอนว่า เมื่อพี่น้องกริมม์ตีพิมพ์นิทานเรื่องสองพี่น้องฮันเซลกับเกรเทลในเยอรมนี เมื่อปี 1812 บ้านขนมปังขิงก็กลายเป็นที่รู้จักทั่วไปในยุโรปและทั่วโลก

#เกร็ดนวัตกิน :
ปัจจุบันมีการปลูกขิงหลายพื้นที่ในโลก ถือกันว่าขิงจีนเผ็ดร้อนที่สุด ส่วนขิงอินเดียใต้และขิงออสเตรเลียมีกลิ่นคล้ายมะนาว ขิงจาไมกาให้ความเผ็ดร้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับขิงแอฟริกา

ภาพวาด 2,000 ปี หญิงสาวกับหญ้าฝรั่น

มีหลักฐานว่ามนุษย์เรารู้ปลูกและใช้ประโยชน์จากหญ้าฝรั่น (saffron) มากว่า 3,500 ปีแล้ว และมันถือเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน ยอดเกสรตัวเมียตากแห้งของหญ้าฝรั่นใช้ในการแต่งรสและสีอาหารมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะในแถบตอนใต้ของภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งในอาหารจานปลา ซุป ขนมปัง รวมถึงใช้ย้อมผ้า

มูลค่าและความสำคัญของหญ้าฝรั่นนั้นทำให้มันปรากฏอยู่ในงานศิลปะที่น่าสนใจหลายชิ้น โดยภาพบนผนังพระราชวังนอสซอส (Knossos palace) ของอารยธรรมมิโนอัน (Minoan) เป็นภาพหญิงสาวกับลิงกำลังเก็บเกี่ยวหญ้าฝรั่น

ส่วนภาพวาดอีกภาพหนึ่งอายุราว 2,000 ปี ที่ถูกค้นพบในอาคารของแหล่งชุมชนโบราณที่เกาะซานโตรินี (หรือเกาะเธรา) ในทะเลเอเจียน เป็นภาพของเทพีในอารยธรรมมิโนอันกำลังสอนหญิงสาวเก็บหญ้าฝรั่นและกำลังรวบรวมเกสรตัวเมีย (ซึ่งถูกตีความว่าอาจนำไปทำเป็นยาสมุนไพ)ร นอกจากนี้ในยุคเดียวกันหญ้าฝรั่นยังปรากฏในภาพวาดอีกภาพที่เป็นภาพผู้หญิงกำลังใช้หญ้าฝรั่นรักษาเท้าที่บาดเจ็บ

นอกจากงานจิตรกรรมแล้ว หญ้าฝรั่นยังปรากฏในตำนานหรือเรื่องเล่าเทพปกรณัมอีกด้วย มีตำนานโบราณของกรีกเล่าเรื่องชายหนุ่มรูปงามนามว่า โครคุส (Crocus) กับนางไม้นามว่า สมิลักซ์ (Smilax) ขณะที่ทั้งสองหยอกล้อกันอยู่ในป่าใกล้กรุงเอเธนส์ เขาพยายามมีสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา แม้สมิลักซ์ปฏิเสธ แต่โครคุสก็ไม่ลดความพยายาม จนในที่สุดเธอใช้เวทมนต์ทำเขาให้กลายเป็นต้นหญ้าฝรั่นซึ่งมีเกสรตัวเมียสีส้มสดใสเป็นเครื่องหมายของความต้องการที่ไม่รู้จักจบสิ้น

พันธุ์หญ้าฝรั่นที่ปลูกในแคชเมียร์ทางตอนเหนือของอินเดียถือว่าให้ผลผลิตคุณภาพดีมากจนปัจจุบัน ต่อมาชาวมัวร์ก็นำหญ้าฝรั่นไปปลูกที่สเปนเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 10หลังจากนั้นอีกหลายร้อยปีก็มีการปลูกในอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนีและอังกฤษ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หญ้าฝรั่นมีราคาสูงเพราะปัจจุบันยังคงเก็บเกี่ยวด้วยมือเช่นเดียวกับสมัยโบราณ ประมาณกันว่าหญ้าฝรั่น 75,000 ดอก ให้เกสรตัวเมียสด 2.25 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อตากแห้งแล้วเหลือน้ำหนัก 450 กรัม ดังนั้น ต้องใช้ประมาณ 120,000 – 160,000 ดอก เพื่อให้ได้หญ้าฝรั่งแห้ง 1กิโลกรัม โดยที่ราคาขายปลีกเฉลี่ยในปัจจุบันประมาณกิโลกรัมละ 61,000-77,700 บาท

#เกร็ดนวัตกิน :
คำว่า หญ้าฝรั่น คนไทยออกเสียงเลียนคำว่า ซะฟะริน (zafarin) ที่หมายถึง สีเหลือง ซึ่งมาจากภาษาเปอร์เซียว่า ซาร์พารัน (zarparan) ที่แปลว่า “ดอกไม้ที่มีเส้นสีทอง”

Related Posts