กว่าจะมาเป็น 5 อาหารแปรรูปชื่อดัง


ทุกวันนี้เรามีอาหารให้เลือกซื้อหาได้สะดวกกว่ามากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผู้คนต้องปรุงอาหารเองเป็นหลัก วัตถุดิบหลายๆ อย่างก็บูดเสียได้ง่าย จึงต้องถนอมอาหารไว้กินให้นานขึ้น
กระทั่งเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตู้เย็นและอาหารแปรรูป (processed food) ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น
ด้วยอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานมากขึ้น เวลาที่ใช้ในการเตรียมอาหารน้อยลงและที่สำคัญราคาถูก ทำให้ผู้คนหันมาบริโภคอาหารแปรรูปมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาหารประเภทนี้กลับทำให้สุขภาพมนุษย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายอย่างตามมา
วันนี้ ‘นวัตกิน’มีเรื่องราวเบื้องหลังอาหารแปรรูปยอดนิยมที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน 5 อย่างมากเล่าให้ฟังกันครับ

1. ซอสมะเขือเทศ
มะเขือเทศเป็นที่รู้จักของโลกตะวันตกตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ 15 และปรากฏตัวในอาหารอิตาเลียนและอาหารสเปนในเวลาใกล้เคียงกัน แต่กว่าผู้คนในพื้นที่อื่นๆ ของยุโรปและสหรัฐจะยอมรับก็ต้องรอจนถึงศตวรรษที่ 19

ส่วนซอสมะเขือเทศที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ ทำขึ้นครั้งแรกโดยเจมส์ เมส (James Mease) ในปี 1812 แต่มีอายุการเก็บรักษาสั้นมาก จนทำให้ในปี 1866 พ่อครัวฝรั่งเศสชื่อปีแยร์ บล็อต (Pierre Blot) ถึงกับออกมาเตือนผู้บริโภคว่าอย่าซื้อซอสมะเขือเทศที่ทำขายกันในตลาดเพราะ “สกปรกและบูดเน่าได้ง่ายมาก”

นับแต่นั้นบรรดาผู้ผลิตซอสมะเขือเทศจึงระดมสมองหาวิธีการยืดอายุซอส หลายรายเลือกเติมสารกันบูดลงไปจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนแน่ๆ

จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 ดร.ฮาร์วีย์ วอชิงตัน วิลลีย์ (Dr.Harvey Washington Harvey) ร่วมมือกับเฮนรี ไฮนซ์ (Henry Heinz) ในการผลิตซอสมะเขือเทศออกวางจำหน่ายในปี 1906 โดยยืนยันว่าซอสของเขาไม่ใส่สารกันบูดแต่ใช้น้ำส้มสายชูเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาโดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งแน่นอน มหาชนให้การตอบรับดีมากจนทำให้ในปีต่อมาซอสมะเขือเทศที่ทั้งคู่คิดค้นสูตรขึ้นสามารถขายได้ถึง 13 ล้านขวด และยังเป็นที่นิยมมาจนปัจจุบัน

2. นูเทลลา
.
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเห็นจะไม่พ้นนูเทลลา (Nutella) ซึ่งบริษัทเฟอร์เรโรอ้างว่าใช้ถั่วเฮเซลนัตมากถึง 1 ใน 4 ของปริมาณที่มีอยู่ในโลกนี้จนออกมาเป็นสินค้ายอดนิยมอย่างทุกวันนี้

แต่ทราบหรือไม่ว่านูเทลลามีกำเนิดมาจากความจำเป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในขณะนั้นโกโก้ที่นำมาผลิตช็อกโกแลตขาดแคลนอย่างหนักและมีราคาสูงมาก สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ปิเอโตร เฟอเรโร (Pietro Ferrero) เจ้าของร้านเบเกอรีในเมืองอัลบา ประเทศอิตาลี ลองทำผลิตภัณฑ์ทาขนมปังแบบใหม่ที่ทุกคน “เข้าถึง” ได้ โดยลดสัดส่วนช็อกโกแลตลง และใช้วัตถุดิบหลักคือเฮเซลนัตกับน้ำตาลเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคแทนที่ช็อกโกแลตทาขนมปังที่ราคาแสนแพง

เขาตั้งชื่อสินค้าชนิดนี้ว่า กิอันดูโจต (Giandujot) ซึ่งต่อมาในปี 1951 มีการปรับสูตรให้เหมาะสมแล้วเปลี่ยนไปบรรจุในขวดพร้อมเรียกชื่อใหม่ว่า ซูเปอร์ครีมา (SuperCrema)

ต่อมา มิเชล บุตรชายของปิเอโตร ได้เปลี่ยนชื่อสินค้าอีกครั้งเป็น “นูเทลลา” พร้อมๆ กับการปรับปรุงส่วนผสมครั้งใหญ่ด้วยการผสมน้ำมันพืชและน้ำมันปาล์มแล้วส่งออกไปวางจำหน่ายทั่วยุโรปครั้งแรกในปี 1964 และได้รับการตอบรับจากตลาดและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอย่างรวดเร็ว

เคยมีการวิเคราะห์ว่า เหตุที่นูเทลลาได้รับความนิยมอย่างมากนั้น ไม่เพราะราคาถูก อร่อย และสะดวก แต่เป็นเพราะการวางตำแหน่งตัวเองอยู่เหนือช็อกโกแลต แม้จะมีสถานะเป็นสิ่งทดแทนตั้งแต่ต้นก็ตาม ขณะที่ส่วนผสมทั้งโกโก้และถั่ว อิ่มกว่าให้พลังงานได้มากซึ่งช่วยให้อิ่มได้นานนั่นเอง

3. คุกกี้ช็อกโกแล็ตชิพ
.
เชื่อกันว่าคุกกี้เกิดขึ้นมาบนโลกนี้เป็นครั้งแรกในสมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว แต่การทำคุกกี้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในยุโรปมากนัก จนเมื่อน้ำตาลซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของคุกกี้เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและราคาถูกลงแล้ว

คุกกี้ยุคแรกๆ ของยุโรปเรียกว่า จัมเบิล (Jumble) ที่นิยมทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเสบียงระหว่างเดินทางไกล โดยมีส่วนผสมไม่กี่อย่าง คือ แป้ง น้ำตาล ไข่และถั่วหรือลูกนัต ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์นำขนมที่พวกเขาเรียกว่า โกกี (koekje) เข้าไปเผยแพร่ในทวีปอเมริกาและกลายเป็นบรรพบุรุษของคุกกี้ที่รู้จักกันในในปัจจุบัน

ส่วนคุกกี้ที่ผสมช็อกโกแลตชิพเม็ดเล็กๆ นั้นจะว่าไปก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ เมื่อรูธ เกรฟส์ เวกฟิลด์ (Ruth Graves Wakefield) แม่ครัวคนสำคัญของสหรัฐซึ่งเธอมีชื่อเสียงด้านฝีมือการทำคุกกี้และยังบริหารโรงแรม Toll House Inn ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ร่วมกับสามี เธอรับหน้าที่เตรียมอาหารสำหรับเสิร์ฟให้แขกที่มาพักในโรงแรมด้วยตัวเอง

วันหนึ่งในปี 1930 เธอจะทำคุกกี้ช็อกโกแลต แต่ช็อกโกแลตสำหรับทำขนมอบหมดพอดี ด้วยความรีบร้อนเธอเลยใช้ช็อกโกแลตสำเร็จรูปยี่ห้อเนสเล่มาผสมแทน แต่ปรากฏว่าช็อกโกแลตกลับไม่ละลายง่ายๆ อย่างที่เธออยากให้เป็น ผลก็คือคุกกี้ที่ได้มีช็อกโกแลตชิ้นเล็กๆ ปนอยู่เต็มไปหมด

ทีแรกเธอคิดว่าคงเสียของ แต่ตรงกันข้ามครับ ใครที่ได้ชิมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติอร่อยและแปลกใหม่ เธอจึงเริ่มลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโดยเรียกว่า Chocolate Crunch Cookie ซึ่งทำให้แม่บ้านแม่เรือนที่ได้ข่าวต่างก็อยากได้สูตรคุกกี้ของเธอซึ่งส่งผลให้ยอดขายช็อกโกแลตของเนสเล่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดบริษัทก็ทำข้อตกลงกับเวกฟิลด์ว่าจะส่งช็อกโกแลตให้เธอฟรีตลอดชีวิตถ้าเธอยอมให้พิมพ์สูตรคุกกี้ลงบนกล่องช็อกโกแลต นับแต่นั้นเป็นต้นมาเนสเล่ยังผลิตและจำหน่ายคุกกี้ช็อกโกแล็ตชิพสูตรโรงแรม Toll House พร้อมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จนปัจจุบัน

4. นักเก็ตไก่
.
นักเก็ตไก่เป็นหนึ่งในเมนูของคนที่ชื่นชอบอาหารฟาสต์ฟู้ดประเภทไก่ทอดต้องได้ลิ้มลองกันมาแล้ว นอกจากจะมีทอดขายตามร้านแล้ว ยังสามารถหาซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาทอดเองที่บ้านได้ด้วย แต่ทราบหรือไม่ว่าเนื้อไก่ชุบเกล็ดขนมปังทอดนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราวปี 1980 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทแมคโดนัลด์ เริ่มขายสินค้าที่เรียกว่า แม็กนักเก็ต เป็นครั้งแรก

ส่วนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเมนูนี้ก็คือ ในปี 1977 รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาเตือนประชาชนเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร โดยแนะนำให้กินอาหารที่มีไขมันมากๆ จำพวกอาหารทอดหรือฟาสต์ฟู้ให้น้อยลง ผลที่ตามมาคือ ยอดขายเบอร์เกอร์ของบริษัทลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงหันไปสนใจเนื้อไก่ที่มีไขมันน้อยกว่าเนื้อหรือหมู โดยทดลองทำเป็นเมนูหลากหลายรวมถึงแม็กนักเก็ตด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าที่จริงนักเก็ตนั้นเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้วราว 18 ปี เมื่อศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ซี. เบเกอร์ นักวิทยาศาสตร์การอาหารที่เติบโตมาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐ (the Great Depression) นำประสบการณ์จากอดีตมาทำเป็นเมนูราคาถูกแต่กินแล้วอิ่มได้นานขึ้นมา เขาทดลองทำอาหารชนิดใหม่นี้ไปวางขายตามร้านต่างๆ ซึ่งก็มีลูกค้าอุดหนุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ตีพิมพ์ผลการทดลองในวารสารวิชาการและส่งไปยังบริษัทผู้ผลิตอาหารกว่า 500 แห่ง แม้ว่าแมคโดนัลด์จะไม่เคยเอ่ยถึงนักเก็ตที่ศาสตราจารย์เบเกอร์ทำขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าการวิจัยของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเมนูยอดนิยมนี้ด้วย

5. คอร์นเฟลก
.
อาหารเช้าที่ปรุงจากธัญพืชหรือซีเรียลมีความเป็นมายาวนาน เดิมทำกินกันเองตามบ้านเรือน กระทั่งเมื่อบริษัท Quaker Oats วางจำหน่ายสินค้าข้าวโอ๊ตในปี 1854 เป็นครั้งแรก พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป แต่ข้าวโอ๊ตของควากเกอร์เป็นแบบ “ร้อน” คือต้องต้มหรือเติมน้ำร้อนลงไปถึงจะกินได้ ส่วนอาหารเช้าแบบ “เย็น” ที่สามารถกินได้ทันทีนั้น ต้องรอจนกว่าจอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อก (John Harvey Kellog) คิดค้นขึ้น โดยมีวิลล์ คีธ เคลล็อก (Will Keith Kellog) น้องชายของเขาเป็นผู้จัดจำหน่ายในปี 1906

จอห์น เคลล็อกเป็นจิตแพทย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนตามมาตรฐานศีลธรรมอังกฤษสมัยวิกตอเรีย เขาเชื่อว่าความต้องการทางเพศจะทำร้ายจิตใจ อารมณ์และร่างกาย เขาปฏิญาณตนละเว้นการเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศและแม้จะแต่งงาน แต่เขากับภรรยาก็แยกห้องกันนอน ขณะที่รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง

เขาคิดค้นอาหารเช้าที่เรียกว่า คอร์นเฟลก ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์หลักคือลดความต้องการทางเพศ เขาต้องการให้แผ่นแป้งข้าวโพดอบกรอบที่ไม่มีเติมรสชาติใดๆ ลงไปนี้เข้ามาแทนที่การกินเนื้อในมื้อเช้าซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นตัวกระตุ้นทางเพศชนิดหนึ่ง จอห์น เคลล็อกเริ่มทดลองให้คอร์นเฟลกกับคนไข้ที่เข้าพักฟื้นในสถานพยาบาลแบทเทิลครีก (Battle Creek Sanitarium) ที่เขาดูแลอยู่ตั้งแต่ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา

ต่อมา วิลล์ เคลล็อก เห็นว่าคอร์นเฟลกที่พี่ชายคิดขึ้นมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจจึงพยายามโน้มน้าวให้เติมน้ำตาลลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ และแยกตัวออกมาเปิดบริษัทของตนเองโดยมีสินค้าหลักคือคอร์นเฟลก อาหารเช้าธัญพืชที่มีการเติมน้ำตาลและส่วนผสมอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 1906 เป็นต้นมา

Related Posts