น้ำตาล odyssey (1) : การเดินทางของน้ำตาล..จากผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นผู้ร้าย

น้ำตาล odyssey (1) : การเดินทางของน้ำตาล..จากผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นผู้ร้าย

คนเก็บผึ้งในถ้ำแมงมุม..พ่อค้าอาหรับและน้ำผึ้งแข็ง..ไร่อ้อยแห่งปาปัวนิวกินี..คนรวยฟันผุ..ยาครอบจักรวาล..กำเนิดลูกกวาด..ทองคำสีขาว..และผู้ร้ายของยุคสมัย..

สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร..อ่านได้ในบทความของเราเลยครับ

——

ใครๆ ก็ชอบทานขนม ไอศกรีมและของหวาน (จริงมั้ย) ครับ แต่ไม่ว่าเราจะชอบเท่าไหร่เราก็ต้องพยายามอดทนอดกลั้นกันอยู่ไม่น้อย เพราะกลัวมีปัญหาสุขภาพ

พูดง่ายๆ ทุกวันนี้น้ำตาลเหมือนได้รับบทเป็น “ผู้ร้าย” ของสุขภาพไปอย่างแท้จริงแล้ว อย่างน้อยพวกเราก็ได้รับข่าวสารของน้ำตาลโดยพ่วงมากับคำเตือนและอันตรายแก่สุขภาพอยู่เสมอ

แต่ทราบไหมครับว่า..ในอดีต “น้ำตาล” นั้นไม่ได้เป็นผู้ร้ายแบบนี้เลย จริงๆ แล้วในโลกยุคก่อนมันเคยรับบทพระเอกนางเอกของโลกด้วยซ้ำ..จะว่าไป เรื่องราวการเดินทางของน้ำตาลนั้นก็แทบไม่ต่างอะไรกับเรื่องชีวิตของผู้คนและตัวละครในภาพยนตร์เลยที่มีวันรุ่ง มีวันพลิกผัน และก็มีวันร่วงหล่นลงมา..

ครับ , วันนี้ “นวัตกิน” ขอนำ “น้ำตาล odyssey” หรือเรื่องราวการเดินทางของน้ำตาลมาเล่าสู่กันฟังครับ

1.“ชีวิตต้องการ..ความหวาน”

มนุษย์เราผูกพันกับ “ความหวาน” และรู้จักแสวงหาอาหารรสหวานมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วครับ มีหลักฐานว่าพวกเรานั้นมีการบริโภคน้ำตาลมาตั้งแต่ 10,000 ปีก่อนแล้ว โดยสมมติฐานอย่างหนึ่งคือ “รสหวาน” ส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้นพบได้ในอาหารให้พลังงานสูงที่จำเป็นต่อความอยู่รอด ดังนั้นในวันที่โลกยังไม่มีความเจริญทางวัตถุและยากต่อการอยู่อาศัยนั้น มนุษย์เราจึงต้องเสาะแสวงหาอาหารรสหวานอยู่ตลอดเวลา

ในอีกแง่หนึ่ง ที่มนุษย์ไม่ชอบอาหารรสขม ทั้งๆ ที่ความขมเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากพืชมีพิษระหว่างการหาอาหารนั้น อาจเกิดจากการที่ความขมถูกจดจำมาพร้อมกับความรู้สึกอันตราย จึงเป็นไปได้ว่า มนุษย์โบราณเลยสร้างตรรกะขึ้นมาในทำนองว่า “ยิ่งหวาน ยิ่งปลอดภัย” ขึ้นมาด้วย

2. “คนเก็บน้ำผึ้งในถ้ำแมงมุม”

หลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์แสวงหาอาหารรสหวานตั้งแต่ยุคโบราณ เห็นได้จากภาพเขียนผนังถ้ำเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ในถ้ำอาราญา (Araña cave) หรือถ้ำแมงมุมในเมืองบาเลนเซีย ทางตะวันออกของประเทศสเปน ซึ่งมีภาพคนกำลังปีนเถาวัลย์หรือเชือกขึ้นไปเก็บน้ำผึ้งจากรวงผึ้งใหญ่ มีภาพผึ้งบินอยู่รอบๆ

ครับ, แต่ก่อนความหวานนั้นยังไม่ได้มาในรูปของน้ำตาลเป็นเม็ดๆ ก้อนๆ อย่างที่เรารู้จักกันนี้ แต่มาจากการเก็บน้ำผึ้งและน้ำหวานจากธรรมชาติ

ทีนี้เรา มาดูกันดีกว่าว่า “น้ำตาล” ที่เป็นผลจากการประดิษฐ์คิดค้นมนุษย์เรานั้น เริ่มต้นและมีขึ้นมาอย่างไร

3. “ไร่อ้อยแห่งปาปัวนิวกินี”

เชื่อกันว่าปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea ) เป็นต้นกำเนิดของอ้อยซึ่งเป็นญาติกับไม้ไผ่และหญ้า ไม้ไผ่นั้นเป็นหญ้าต้นสูง มีความแข็งแกร่งและทนทานในระดับหนึ่งใช้สร้างบ้านเรือนและทำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนอ้อยนั้น แม้จะมีเนื้ออ่อนกว่า แต่ในเนื้อมีน้ำหวานซึ่งเป็นที่ต้องการของมนุษย์ และเพื่อประกันการมีอ้อยให้กินต่อเนื่องไม่ขาดแคลน เมื่อราว 6000 ปีก่อนคริสต์ศักราช บรรพบุรุษของพวกเราจึงเริ่มปลูกอ้อยแทนการหาตัดจากอ้อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้

ต่อมา “อ้อย” จึงเดินทางอย่างช้าๆ จากถิ่นกำเนิดในปาปัวนิวกินีผ่านการค้าขายไปยังดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคโพลีเนเซีย ฮาวาย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กระทั่งไปถึงอินเดียในราว 3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

4.STONE HONEY..น้ำผึ้งแข็ง น้ำตาลเวอร์ชั่นแรก

อินเดียนับเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ “น้ำตาล” เวอร์ชั่นแรกขึ้นมา

ประมาณ 510 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อจักรพรรดิดาริอุสที่ 1 (Darius I) หรือพระเจ้าดาริอุสมหาราช แห่งจักรวรรดิเปอร์เซียกรีฑาทัพมาถึงอินเดีย ท่านก็กล่าวถึงต้นอ้อที่ทำน้ำผึ้งได้เองโดยไม่ต้องอาศัยตัวผึ้ง

ราว 400 ปีก่อนคริต์ศักราช ชาวอินเดียพัฒนากระบวนการสำคัญขึ้นมาอย่างหนึ่งเพื่อทำให้น้ำหวานจากอ้อยกลายเป็นผงด้วยการทำน้ำที่รวมอยู่ในน้ำหวานนั้นระเหยไป และต่อมาก็ทำให้แข็งตัวเป็นก้อนเรียกว่า น้ำผึ้งแข็ง (stone honey)

ว่ากันว่าเมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จจากอินเดียกลับไปยังกรีซนั้น พระองค์ทรงนำน้ำผึ้งผงชนิดนี้กลับไปด้วย

ส่วนในตำราของดิโอสคอริเดส (Dioscorides) แพทย์ชาวกรีกในศตวรรษที่ 1 มีการเอ่ยถึงน้ำตาลไว้ว่า

“…เป็นน้ำผึ้งเข้มข้นชนิดหนึ่งเรียกว่า ซัคคารอน (saccharon) ทำจากอ้อยในอินเดียและอาระเบีย เหมือนก้อนเกลือ กัดให้แตกได้ด้วยฟัน…”

แต่วิวัฒนาการไม่ได้จบแค่นี้ เพราะในอีก 2 ศตวรรษต่อมา (ราว ค.ศ.350) ชาวอินเดียก็พัฒนาน้ำตาลไปอีกขั้น คราวนี้พวกเขาทำให้เป็นผลึกสีขาวใสเหมือนคริสตัล ที่เราเรียกว่า “น้ำตาลกรวด” ซึ่งในเวลานั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และถือเป็นสินค้าหลักสำหรับส่งออกอย่างหนึ่งของอินเดียในเวลารวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งไปยังลูกค้าทางตะวันตกอย่างเปอร์เซียและอียิปต์

และต่อมาในราว ค.ศ.700 ก็มีพัฒนาการของน้ำตาลเกิดขึ้นอีกครั้งด้วยการทำน้ำตาลให้เป็นผลึกหรือเม็ดละเอียดและมีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้แก่ “น้ำตาลทรายขาว” หรือ refined sugar ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นเอง

5. “พ่อค้าอาหรับ”

ขณะเดียวกันโลกอาหรับก็หันมาผลิตน้ำตาลของตนเองบ้าง แทนที่จะเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อแล้วขายต่ออย่างที่เคยทำมา ซึ่งทำให้บรรดานักรบครูเสดที่เดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์และเคยได้ลิ้มรสความหวานของน้ำตาลอ้อยที่ชาวตะวันออกลางผลิตขึ้น เมื่อกลับไปยังยุโรปก็นำไปเล่าขานถึงรสชาติของน้ำตาลอาหรับจนทำให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น

จุดนี้เองที่ทำให้อาหรับเริ่มขายน้ำตาลของตนให้แก่ยุโรป แต่กระนั้นก็ใช่ว่าความนิยมในน้ำตาลจากอินเดียจะลดลง เพราะในความเป็นจริงน้ำตาลของโลกเราในเวลานั้นผลิตขึ้นมาจากแค่ 2 แหล่งคืออินเดียกับอาหรับเท่านั้น จึงทำให้มีราคาสูงและปริมาณมักจะไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่เสมอ

6. “น้ำตาลคือของมีค่า..ยาครอบจักรวาล”

คนในยุโรปสมัยกลางถือว่าน้ำตาลเป็นของมีค่าและหายากพอๆ กับเครื่องเทศจากต่างแดน นิยมใช้ในอาหารหลายชนิดเช่นอาหารจานเนื้อ ซุป ขนมต่างๆ ทั้งขนมเค้กและขนมอบนานาชนิด ขณะเดียวกันแพทย์สมัยกลางก็เชื่อว่าน้ำตาลทรายขาวมี

“…สรรพคุณทำความสะอาดร่างกาย ทรวงอก ไตและตับ…ทั้งยังดีต่อเลือด และเหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกฤดูกาลและทุกสถานที่…” เรียกได้ว่าเป็นยาครอบจักรวาลก็ไม่ผิดนัก

แม้แต่ กีโยม ทาเรล์ (Guillaume Tarel) พ่อครัวราชสำนักฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 14ก็ยังแนะนำว่าให้เติมน้ำตาลในอาหารที่มีรสเปรี้ยวโดยเฉพาะเมื่อต้องเสิร์ฟให้กับผู้ป่วย เพราะนอกจากจะมีประโยชน์แล้ว น้ำตาลยังเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความขมขื่นของยาได้อีกด้วย

 

7.“ลูกกวาด”

พ่อค้าชาวเวนิสในอิตาลีเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มการค้าขายน้ำตาลจริงจังขึ้นมาพร้อมกับการตั้งโรงงานหีบอ้อยพลังน้ำในเกาะไซปรัสซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยสำคัญแหล่งหนึ่งในยุโรป น้ำตาลที่ได้จะอยู่ในรูปของก้อนหรือแท่งทรงกรวยปลายมน (sugarloaf) เพื่อให้ง่ายต่อการบรรจุและการขนส่ง

คู่มือของพ่อค้าน้ำตาลชาวฟลอเรนซ์ชื่อ ฟรานซิสโก เปโกล็อตติ (Francesco Pegolotti ) กล่าวถึงน้ำตาลในตลาดยุโรปไว้ถึง 12 ชนิด ทั้งน้ำตาลทราย น้ำตาลที่ทำเป็นลูกอม น้ำตาลก้อนและน้ำตาลแท่ง รวมทั้งน้ำตาลที่แต่งกลิ่นดอกไวโอเล็ตและดอกกุหลาบ ขณะเดียวกันตามเมืองใหญ่ๆ ของอิตาลีก็เกิดร้านขายขนมหวานจำพวกลูกกวาดหรือน้ำตาลแต่งสีแต่งกลิ่นต่างๆ ขึ้นมาจำนวนมาก

8.“ทองคำสีขาว” WHITE GOLD

น้ำตาลถูกเรียกว่า “ทองคำสีขาว” (white gold) เพราะมีราคาสูง ในยุโรปศตวรรษที่ 16 น้ำตาลถุงเล็กๆ 1 ถุงมีค่าเท่ากับค่าแรง 1 วันเลยทีเดียว แม้แต่ในตะวันออกกลางก็มีค่าเทียบค่าสิ่งของต่างๆ กับน้ำตาลอยู่ไม่น้อย

อย่างกรณีของสุลต่านอาหมัด อัล-มานเซอร์ (Ahmad al-Mansur ) เมื่อทรงเริ่มสร้างพระราชวังเอลบาดี (El Badi palace) ก็ทรงเทียบราคาวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น ทองคำ หินอ่อนจากอิตาลี หินดำหรือนิลกาฬ (onyx) กับน้ำหนักของน้ำตาลทั้งสิ้

และในศตวรรษเดียวกัน มีไร่อ้อยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแถบทะเลแคริบเบียนหลังจากโคลัมบัสนำต้นอ้อยติดมาจากเกาะกานารีของสเปนในการเดินทางไปทวีปอเมริกาครั้งที่ 2 ของเขา ต่อมาการผลิตน้ำตาลในบริเวณดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อความเป็นไปต่างๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นการค้าทาส รวมไปถึงการทำให้ทวีปอเมริกาเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลป้อนยุโรปที่มีความต้องการน้ำตาลอย่างมาก

ขณะที่สเปนกำลังเร่งผลิตน้ำตาลในแถบแคริบเบียน โปรตุเกสตั้งเป้าไปที่การปลูกอ้อยในบราซิล ส่วนดัตช์ก็มีส่วนในการต่อการสร้างเครือข่ายการขายน้ำตาลในยุโรปและการปลูกอ้อยในเอเชีย โดยเฉพาะในแถบอินเดียตะวันตก (West Indies) ผลที่ตามมาก็คือในปลายศตวรรษที่ 17 ราคาน้ำตาลที่ขายในท้องตลาดลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีเพียงคนมีฐานะดีเท่านั้นที่จะบริโภคได้

9.“ตกบัลลังก์”

คนเรามีขาขึ้น..ก็ย่อมมีขาลง..

น้ำตาลก็เช่นเดียวกัน..

2 ศตวรรษต่อมา แอนเดรียส มากราฟ (Andreas Margraff) นักเคมีชาวเยอรมันพบว่าหัวบีท หรือบีทรูท (beetroot) มีน้ำตาลซูโครส (sucrose) ซึ่งเป็นรูปที่แยกต่อไปไม่ได้ของน้ำตาล (น้ำตาลที่เราบริโภคทุกวันนี้เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า ซูโครส ซึ่งประกอบด้วยโมเลกุลของกลูโคสและฟรักโทสอย่างละ 1 หน่วย เชื่อมต่อกันทางเคมี) นับแต่นั้นมาในเขตอากาศอบอุ่นหรืออากาศเย็นอย่างทวีปยุโรปหรืออเมริกาเหนือ มีการผลิตน้ำตาลทรายจากหัวบีต (sugar beet) เรื่อยมา

ในปี ค.ศ. 1801 เกิดโรงงานน้ำตาลขึ้นพื้นที่ที่เป็นประเทศโปแลนด์ในปัจจุบัน ตามมาด้วยโรงงานอีกหลายแห่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี รัสเซียและเดนมาร์ก

ตอนนั้นเอง น้ำตาลจึงราคาถูกลง มันเปลี่ยนสถานะจากสินค้าฟุ่มเฟือยกลายเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันของคนธรรมดา โดยเฉพาะในในศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 ที่มีการเกิดขึ้นของชาหวาน แยม ลุกกวาด เค้กและบิสกิตอีกจำนวนมาก ซึ่งหาซื้อหาทานได้ง่ายกว่าในอดีต น้ำตาลจึงเปลี่ยนสถานะไปอย่างสิ้นเชิง อาจเรียกว่า “ตกบัลลังก์” ก็ว่าได้

10.“คนรวยนั้นมักฟันผุ”

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน..ความหมายของสิ่งต่างก็มักจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอตามพัฒนาการของความรู้ วิทยาศาสตร์ และการมาของนวัตกรรมต่างๆ ผู้ที่เคยยิ่งใหญ่อย่าง “น้ำตาล” ก็ไม่รอดสัจธรรมนี้ครับ

สัญญานการตกบัลลังค์ของน้ำตาล เริ่มมีขึ้นมาจากการที่ผู้คนในยุโรปเริ่มบริโภคน้ำตาลเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-16 เพราะพวกเขาเริ่ม “ฟันผุ” เนื่องจากแบคทีเรียในช่องปากสามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดชนิดหนึ่งเรียกว่า กรดแลกติก (lactic acid) ซึ่งทำให้เคลือบฟันผุกร่อนและเกิดปัญหาฟันผุในที่สุด

มีหลักฐานว่า ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ของยุโรปนั้น คนที่มีฐานะมั่งคั่งกลับต้องทรมานจากปัญหาฟันผุเนื่องจากบริโภคน้ำตาลมากเกินไป อย่างที่ทราบกันครับว่าน้ำตาลเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น ทำให้มีราคาสูงเกินกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะครอบครองได้ จึงมีแต่ชนชั้นสูงในสังคมและคนมีฐานะร่ำรวยจริงๆ เท่านั้น ที่จะเข้าถึงและลิ้นรสความหวานของน้ำตาลได้..พูดง่ายๆ ว่า “คนรวยฟันผุกว่าคนจน” ก็ไม่ผิดนัก

กรณีนี้เห็นได้จากการเกิดพระทนต์ผุในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ เนื่องจากพระองค์โปรดเสวยอาหารรสหวาน ทั้งยังโปรดให้แจกจ่ายน้ำตาลซึ่งเป็นของนำเข้าให้แก่พระราชวงศ์อีกด้วย ขณะที่ชาวบ้านหรือคนยากจนยังอาศัยความหวานของผลไม้หรือน้ำผึ้งป่าในการทำอาหารตามแบบดั้งเดิม คนจนกลายเป็นกลุ่มที่มีฟันผุน้อยกว่า นอกจากนี้ข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ชนชั้นร่ำรวยในอังกฤษประสบปัญหาฟันผุเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมาก บางคนฟันผุเกือบทั้งปากและมีปัญหาโรคเหงือกตามมาขณะอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น (!!!)

11. “โลกยุคใหม่..มีผู้ร้ายชื่อน้ำตาล”

หลังจากนั้นน้ำตาลจึงเริ่มถูกมองใหม่..และสถานะของมันก็สั่นคลอนลงเรื่องๆ โดยเฉพาะ เมื่อโลกให้ความสนใจและตระหนักถึงอันตรายของ โรค “เบาหวาน”

โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน เบาหวานนั้นส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อม เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนขึ้นได้

ซึ่งตรงนี้เองครับ คือจุดที่น้ำตาลหมดยุคความรุ่งเรืองลงอย่างแท้จริง และเริ่มกลายเป็นอาหารต้องห้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสมัยนี้ (ซึ่งเป็นยุคที่มีขนมหวานให้เลือกทานมากที่สุดซะด้วย)

….

ครับ , วันนี้ “นวัตกิน” ขอเล่าเรื่องการเดินทางของน้ำตาล (ภาคแรก) แบบนี้ก่อนนะครับ ที่เรียกว่าภาคแรกนั้น เพราะจริงๆ แล้วเรื่องราวของ “น้ำตาล” ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก เพราะน้ำตาลหวานๆ ที่เราเห็นเป็นสินค้าราคาถูก (แถมอันตราย) อย่างทุกวันนี้ ในอดีตมันเคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญของโลกอีกมากมายเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้าทาส การให้กำเนิดของเหล้ารัม หรือแม้แต่การปฏิวัติในคิวบา และอื่นๆ

ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังกันใหม่นะครับ

-นวัตกิน-

บรรณานุกรม

Price, B. (2014). Fifty Foods that Changed the Course of History. London: Apple.

The Story of Food : An Illustrated History of Everything We Eat. (2018). London: DK.

Related Posts