เรกี : น้ำนมราชสีห์ไปตุรกีต้องลองสักครั้ง

เรกี : น้ำนมราชสีห์ไปตุรกีต้องลองสักครั้ง
.
คำเตือน: การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ ลดลง และยังเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทอีกด้วย
.
ตุรกี ดินแดนที่หลากหลายด้วยวัฒนธรรม อารยธรรมเก่าใหม่ ความงดงามของธรรมชาติที่ทำให้หลายคนเรียกว่าสวรรค์บนดินที่งดงามทุกฤดูกาล การได้ขึ้นบอลลูนชมความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ การได้สัมผัสวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนกันในตลาดกลางเมือง ฯลฯ นี่ยังไม่รวมอาหารการกิน กาแฟตุรกีที่รับรองโดยยูเนสโก้ให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage)


อีกสิ่งหนึ่งที่ใครไปตุรกีแล้วต้องหาโอกาสลิ้มลอง นั่นคือ น้ำนมราชสีห์ หรือ เรกี (Raki) ครับ
เรกีจัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสหวานที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่กลิ่นของเครื่องเทศที่มีชื่อว่า “เทียนสัตตบุษย์” (anise) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับผักชี กลั่นมาจากกากองุ่นที่ใช้ในการผลิตไวน์ หรือบางทีก็นำบรั่นดีผสมกับไวน์ แล้วกลั่นพร้อมสมุนไพรต่างๆ โดยกลั่นในถังทองแดง 2 ครั้ง สีขาวใส มีความแรงของแอลกอฮอล์ประมาณ 40-50% จัดเป็นเหล้าประจำชาติของตุรกีและเลบานอน นิยมดื่มผสมกับน้ำเย็นในสัดส่วนที่เท่ากัน
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อผสมกับน้ำ เรกีจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นคล้ายสีน้ำนมจนกลายเป็นอีกชื่อหนึ่งของเครื่องดื่มชนิดนี้ คือ sütü aslan ที่หมายถึง ‘น้ำนมสิงห์’ หรือ Lion’s Milk ซึ่งในความคิดของคนตุรกีนั้น สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญและความเป็นชาย ดังนั้น การดื่มเรกีจึงมีความหมายว่าเป็นการดื่มเพื่อความแข็งแรง นั่นเอง


เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในอัลเบเนีย ตุรกี หมู่เกาะของกรีซ โดยเฉพาะประเทศในคาบสมุทรบอลข่านนั้นนิยมใช้เป็นเครื่องดื่มก่อนอาหาร (Apéritif)
กล่าวกันว่าเรกีผลิตขึ้นครั้งแรกในช่วงการปฏิรูปตันซิมัต (Tanzimat reforms) ของจักรวรรดิออตโตมาน ระหว่างปี 1839-1876 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ระเบียบบัญญัติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย รวมถึงข้อจำกัดตามประกาศของสุลต่านยุคก่อนๆ ที่ห้ามมุสลิมข้องแวะกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีบทลงโทษรุนแรงที่ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมาก็ได้รับการผ่อนปรน เรกีกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมสำหรับผู้คนในเวลานั้น กระทั้งสิ้นศตวรรษที่ 19 การผลิตเรกีก็ก้าวสู่จุดที่มีมาตรฐานและได้รับความนิยมแพร่หลายเช่นเดียวกับไวน์


การผลิตเรกีในอดีตนำกากองุ่น (pomace) ที่ได้จากการผลิตไวน์มาหมัก แต่เมื่อกากองุ่นไม่เพียงพอจึงนำแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากทวีปยุโรปมาผสมแทน หากไม่ผสมเทียนสัตตบุษย์จะเรียกว่า ดึซเรกี (düz rakı) หรือเรกีอย่างแรง หากผสมยางไม้จากต้นมาสติกจะเรียกว่า ซากิซเรกิซี (sakız rakısı เรกียางไม้) หรือ มาสติกา (mastikha)
เมื่อจักรวรรดิออตโตมานล่มสลายและมีการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐตุรกีขึ้นมา มีโรงกลั่นเรกีที่จัดการโดยบริษัททีเคล (Tekel) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ปี 1944 ต่อมาเมื่อมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลจากหัวบีต (sugar beet) มากขึ้น บริษัทก็เริ่มกลั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกากน้ำตาล (โมลาส) จนเกิดเป็นเรกีชนิดใหม่ที่ใช้แอลกอฮอล์ที่ได้จากหัวบีทออกสู่ตลาดในยี่ห้อเยนีเกรี (Yeni Rakı) หรือเรกีใหม่ ซึ่งรสชาติออกจะขมกว่าเรกีทั่วไป อยู่สักหน่อย แต่กลายเป็นว่าความขมนี่เองที่ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น ดื่มได้มากขึ้น และกลายเป็นเรกีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว
และในเวลาต่อมาเมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ทำให้เกิดบริษัทเอกชนอีกหลายรายที่ผลิตเรกีออกวางจำหน่าย ทำให้ตลาดเรกีมีความหลากหลายทั้งในแง่ส่วนผสม รสชาติและวิธีการผลิต รวมถึงการผลิตที่ “ยืม” วิธีการของวิสกี้มาใช้โดยหมกบ่มในถังไม้โอ๊กที่ทำให้ได้เรกีสีทองสวยงาม


คนที่เคยลิ้มรสเรกีบอกว่าสัมผัสแรกเมื่อดื่มเข้าไปคือกลิ่นคล้ายกับอมลูกอมแฮ็ค ให้รสเย็นซ่านิดๆ สีขาวคล้ายน้ำนม แรงกำลังดี ทานพร้อมกับเมซ (meze) ซึ่งคล้ายออเดิร์ฟหรืออาหารเรียกน้ำย่อยที่มีทั้งร้อนและเย็นรวมอยู่ด้วยกัน รวมถึงอาหารทะเล ผักสดอย่างอาลูกูลา (arugula) ที่คล้ายๆ กับผักสลัดคอส นอกจากนี้ยังนิยมดื่มกับเนยขาวตุรกีและแตงกวาตุรกี เสิร์ฟพร้อมน้ำใส่น้ำแข็งให้ความสดชื่นได้เต็มที่ และว่ากันว่าถ้าได้ดื่มกับเคบับ (kebab) เนื้อแดงดีๆ ก็ยิ่งช่วยเสริมรสชาติกันได้มากขึ้นไปอีก


นอกประเทศตุรกี ที่เมืองอะดานา (Adana) และตอนเหนือของไซปรัส ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เริ่มมีเทศกาลเรกีโลก (World Raki Festival) จัดขึ้น
ในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม ผู้มาร่วมงานจะได้เพลิดเพลินกับอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรกีตั้งแบบต้นตำรับและที่ปรุงสูตรขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ภายในงานมีเคบับสูตรเฉพาะของเมืองอะดานาที่ทำจากเนื้อบดที่นำเข้าเครื่องรีดให้เป็นแผ่นแล้วย่างเสิร์ฟพร้อมตับย่าง มีการแสดงดนตรีและเต้นรำอย่างสนุกสนานตลอดทั้งคืน เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลที่ครึกครื้นและช่วยทำให้เรกีเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า
ใครเคยไปร่วมเทศกาลเรกี หรือ เคยดื่มเรกีแล้วมีประสบการณ์ดีๆ ก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ