อาหารเดลิเวอรี่รุ่นบุกเบิก

อาหารเดลิเวอรี่รุ่นบุกเบิก 🛵
…………..

หนึ่งในนวัตกินที่ช่วยให้เราอิ่มท้องได้ง่ายขึ้นก็คือบริการอาหารเดลิเวอรี่ ไม่ว่าจะเป็นซูชิสุดหรู หมูกระทะย่างบนเตาถ่านร้อนๆ หรือชาไข่มุกที่กินแล้วฟินไปสามโลก แค่จิ้มหน้าจอมือถือ ก็สามารถสั่งอาหารเหล่านั้นมารับประทานได้โดยไม่ต้องเหนื่อยแรงเดินทางไปถึงที่ร้าน

แต่ใช่ว่าอาหารเดลิเวอรี่จะเป็นความสะดวกสบายสำหรับคนยุคใหม่เท่านั้น บริการส่งอาหารถือเป็นนวัตกินที่ถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนที่โลกของเราจะมีโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตเสียอีก และนี่คือเหล่าอาหารเดลิเวอรี่รุ่นบุกเบิก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของบริการส่งอาหารในทุกวันนี้

บะหมี่เย็น 🍜

​อาหารเดลิเวอรีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็คือ แนงมยอน (Naengmyeon) หรือบะหมี่เย็นของเกาหลี ที่มีบริการส่งถึงที่มาตั้งแต่สมัยโบราณ

​แนงมยอนเป็นอาหารเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เส้นบะหมี่นุ่มๆ จุ่มอยู่ในน้ำซุปเย็นๆ ในชามโลหะ โรยหน้าเนื้อสัตว์กับผักที่หั่นเป็นเส้นยาวๆ อาหารจานนี้ถือกำเนิดในยุคราชวงศ์โชซ็อนของเกาหลี โดยนิยมรับประทานกันในฤดูหนาว เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีตู้เย็น การทำให้น้ำซุปเย็นเฉียบจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากอากาศหนาวๆ ตามธรรมชาติ

​ในช่วงปลายของราชวงศ์โชซ็อน แนงมยอนกลายเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้สำหรับงานเลี้ยงในทุกโอกาส รวมถึงงานเลี้ยงในพระราชวังด้วย หลักฐานชิ้นสำคัญคือข้อความจากบันทึกของขุนนางเกาหลีในปี 1768 (ตรงกับสมัยกรุงธนบุรีของบ้านเรา) ที่กล่าวว่า “หลังจากการสอบเสร็จสิ้น ข้าพเจ้าได้รับประทานแนงมยอนร่วมกับเพื่อนๆ เป็นอาหารกลางวัน” ขณะที่บันทึกในปี 1800 ก็กล่าวถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สั่งให้ทหารชั้นผู้น้อยไปสั่งบะหมี่เย็นมารับประทานกันในกรมกอง
​เนื่องจากยังไม่มีการพบหลักฐานเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอรี่จากประเทศอื่นๆ ที่เก่าแก่กว่า แนงมยอนจึงครองตำแหน่งอาหารเดลิเวอรี่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ในปี 1906 ภัตตาคารแห่งหนึ่งได้ซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เกาหลี เพื่อโฆษณาบริการส่งแนงมยอนถึงบ้านไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล ถือเป็นการเปิดศักราชอาหารเดลิเวอรี่ยุคใหม่ตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน

​ปัจจุบันแนงมยอนก็ยังคงเป็นอาหารเดลิเวอรียอดนิยมในประเทศเกาหลี รวมถึงในประเทศอื่นๆ ที่มีร้านอาหารเกาหลีเปิดให้บริการด้วย

อาหารปิ่นโต 🥘

​หนึ่งในนวัตกินที่โด่งดังของอินเดียก็คือ ดับบาวาลา (Dabbawala) บริหารส่งอาหารกลางวันไปตามสำนักงานต่างๆ ของเมืองมุมไบ ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 250,000 คนต่อวัน

​ผู้คิดค้นบริหารส่งอาหารดับบาวาลาคือ Mahadeo Havaji Bachche ในศตวรรษที่ 19 ชาวอินเดียจากชนบทเริ่มโยกย้ายเข้าไปทำงานในเมืองมุมไบ ซึ่ง Mahadeo ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่ปัญหาก็คือมุมไบยังไม่มีร้านอาหารราคาถูกและฟาสต์ฟูดมากมายเหมือนในปัจจุบัน คนทำงานจำนวนมากจึงไม่สามารถหากลางวันรับประทานได้ แต่จะให้พวกเขาหิ้วอาหารจากบ้านไปกินที่ทำงานก็ไม่ค่อยสะดวก เพราะอาหารอินเดียประกอบด้วยแกงและเครื่องเคียงหลายขนาน ซึ่งต้องใช้ปิ่นโตหลายชั้นถึงจะใส่ได้หมด

​Mahadeo มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากปัญหานี้ และได้ก่อตั้งดับบาวาลาขึ้นมาในปี 1890 ทุกๆ วัน ทีมงานของดับบาวลาจะขี่จักรยานไปรับอาหารปรุงใหม่ๆ จากบ้านของลูกค้า หรือจากร้านอาหารที่ลูกค้าเลือก ปิ่นโตของลูกค้าจะถูกนำมาจัดกลุ่มเพื่อส่งขึ้นรถไฟสายต่างๆ จากนั้นทีมงานที่สถานีปลายทางก็จะเอาปิ่นโตขึ้นจักรยานไปส่งให้ลูกค้าตามสำนักงาน แล้วกลับไปรับปิ่นโตเปล่ามาทำความสะอาด เพื่อใช้ส่งอาหารให้ลูกค้าอีกในวันต่อไป

​ระบบของดับบาลวานั้นฟังดูซับซ้อน และน่าจะทำให้ส่งปิ่นโตสลับกันบ่อยครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดับบาวาลามีสถิติการส่งปิ่นโตผิดพลาดแค่ 1 ครั้งต่อการส่ง 16 ล้านครั้งเท่านั้น ถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ยุคใหม่ และน่าจะเป็นสาเหตุที่ชาวมุมไบยังคงใช้บริการมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ตัวเลือกในการสั่งอาหารมากมายในปัจจุบัน

พิซซ่า 🍕

​ถ้าพูดถึงอาหารเดลิเวอรี่ เมนูที่ทุกคนนึกถึงก็อันดับแรกคงหนีไม่พ้นพิซซ่า เพราะเป็นอาหารที่เรามักจะสั่งมากินที่บ้านหรือที่ทำงานบ่อยกว่าไปกินที่ร้านเสียอีก

​พิซซ่าแบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันนั้นถือกำเนิดในศตวรรษที่ 19 ที่เมืองเนเปิล ประเทศอิตาลี และได้รับความนิยมจากชาวอิตาเลียนอย่างล้นหลาม มีตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อกษัตริย์อุมเบอร์โทและพระราชินีมาเกอริต้าของอิตาลีเสด็จเยือนเมืองเนเปิลในปี 1889 ข้าราชบริภารได้สั่งพิซซาจากร้านดังให้ไปส่งในที่ประทับ เพื่อให้กษัตริย์และพระราชินีได้ลองเสวยอาหารขึ้นชื่อของเมืองเนเปิลสักครั้ง เนื่องจากลูกค้าเป็นถึงประมุขของชาติ เจ้าของร้านจึงได้คิดค้นพิซซ่าหน้าใหม่ที่มีสีขาวจากชีส สีแดงจากมะเขือเทศ และสีเขียวจากใบเบซิล ซึ่งเป็นสีประจำชาติของอิตาลี ว่ากันว่าพระราชินีมาเกอริตาทรงโปรดพิซซ่าถาดนั้นเป็นอย่างมาก พิซซ่าชนิดนี้จึงได้ชื่อว่าพิซซ่ามาเกอริตาตามพระนามของพระองค์ และเหตุการณ์นั้นก็ถือเป็นการส่งพิซซ่าครั้งแรกของโลกด้วย

​แต่กว่าที่บริการส่งพิซซ่าจะเฟื่องฟู ก็ต้องรอจนถึงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยนั้น พิซซ่าได้ข้ามทวีปไปเป็นอาหารยอดนิยมของชาวอเมริกันเรียบร้อยแล้ว ร้านพิซซ่าในอเมริกาต้องการเปิดบริการเดลิเวอรี่เพื่อเพิ่มยอดขาย แต่ปัญหาก็คือ พวกเขาไม่รู้จะเอาอะไรใส่พิซซ่าเพื่อส่งให้ลูกค้าดี ในตอนแรกพวกเขาใช้กล่องกระดาษธรรมดา แต่พิซซ่าที่ออกจากเตาใหม่ๆ จะปล่อยไอน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้กล่องเปียกและฉีกขาด บางร้านได้ลองส่งพิซซ่าด้วยการวางบนถาดแล้วใส่ในถุงกระดาษใบใหญ่ ซึ่งช่วยแก้ปัญหากล่องเปียกแฉะได้ แต่ก็ทำให้ส่งพิซซ่าได้ทีละถาดเท่านั้น เพราะไม่สามารถวางซ้อนกันหลายๆ ถาดได้
​ผู้คิดค้นนวัตกินเพื่อแก้ปัญหานี้ก็คือทีมงานของ Domino’s Pizza พวกเขาได้ประดิษฐ์กล่องกระดาษที่มีช่องระบายไอน้ำ ใช้กระดาษลูกฟูกรองพื้นเพื่อไม่ให้พิซซ่าติดกับกล่อง และมีโครงสร้างแข็งแรงจนสามารถวางซ้อนกันได้หลายชั้น ซึ่งก็คือต้นแบบของกล่องใส่พิซซ่าที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

​แม้พิซซ่าจะไม่ได้รับตำแหน่งอาหารเดลิเวอรี่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่พิซซ่าก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในยุคอินเทอร์เน็ต เพราะผู้ที่เปิดให้บริการสั่งอาหารออนไลน์เป็นเจ้าแรกก็คือ Pizza Hut ในปี 1994 และออร์เดอร์แรกที่ลูกค้าคลิกสั่งซื้อก็คือพิซซ่าหน้าเพปเพอโรนีกับเห็ดเพิ่มชีสนั่นเอง

Related Posts