ครัวนวัตกิน : เผยสูตร Energy Bar 50,000 ปี

ครัวนวัตกิน : เผยสูตร Energy Bar 50,000 ปี
คนรักสุขภาพ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักรวมถึงผู้รักออกกำลังกายหลายๆ ชนิด อย่างปั่นจักรยาน วิ่งมาราธอนหรือแม้แต่วิ่งเทรลที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ ย่อมต้องคุ้นเคยกับอาหารว่างหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้พลังงานแก่ร่างกายรูปแบบต่างๆ กันดีอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นก็คือธัญพืชอัดแท่ง (Energy Bar หรือ Power Bar) ซึ่งเป็นอาหารให้พลังงานโปรตีนและคาร์โบไอเดรตค่อนข้างสูง แคลลอรี่ต่ำและยังพกพาได้สะดวกและรับประทานง่ายอีกด้วย
แต่เมื่อไม่นานมานี้การตั้งข้อสังเกตว่าธัญพืชอัดแท่งที่วางขายกันอยู่ในตลาดทุกวันนี้ หลายยี่ห้อมีน้ำตาลและคาเฟอีนที่ช่วยเสริมรสชาติให้น่ากินมากขึ้น และทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้นได้ด้วย ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าธัญพืชอัดแท่งบางยี่ห้อใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับใช้สารอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) ที่ช่วยให้ธัญพืชหรือส่วนประกอบต่างๆ สามารถอัดเป็นแท่งได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอาหารที่มีสารอิมัลซิไฟเออร์สามารถเปลี่ยนจำนวนแบคทีเรียในลำไส้ทำให้เกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคหัวใจ
ขณะเดียวกันการกินแค่กล้วยตากเพียงอย่างเดียวซ้ำๆ ก็อาจทำให้หลายคนเบื่อ วันนี้เพจนวัตกินมีสูตร energy bar ที่ชนพื้นเมืองในแคนาดาและส่วนหนึ่งของอเมริกาทำเป็นเสบียงไว้กินระหว่างการเดินทางไกลหรือออกไปล่าสัตว์ เพราะไม่ว่าการเดินเท้าทางบกหรือการเดินทางทางน้ำที่ต้องใช้เรือแคนนูเป็นพาหนะนั้น จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของ “เพมมิแคน” (pemmican) หรือenergy bar ที่ผู้คนแถบนั้นสืบทอดสูตรกันมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปีกระทั่งปัจจุบัน ด้วยส่วนผสมไม่กี่ชนิดและมีความยืดหยุ่นให้คุณๆ ปรับเปลี่ยนได้ตามชอบใจ แถมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก สามารถทำเองที่บ้านได้อีกต่างหาก
เพมมิแคน
ส่วนผสม
เนื้อแห้ง 1 ถ้วย (เนื้อวัว เนื้อกวาง หรือเนื้อควายไบสัน; เปลี่ยนเนื้อสัตว์อื่นก็ได้)
ลูกเบอร์รีแห้ง 1/3 ถ้วย
น้ำมันที่ได้จากสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ (ไม่ควรใช้เนย ช็อตเทนนิงหรือเนยขาว)
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ (ถ้าไม่ชอบหวาน ไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำ
1. หั่นเนื้อแห้งเป็นชิ้นเล็กๆ (ถ้านำเนื้อไปแช่ช่องแข็งของตู้เย็นก่อนสัก 1 ชั่วโมง จะทำให้หั่นง่ายขึ้น)
2. นำเข้าอบในเตาอบด้วยไฟต่ำสุด ประมาณไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส จนเนื้อแห้งนั้นแห้งจริงๆ ถ้าตามสูตรเดิมเขานำไปคั่วไฟอ่อนๆ บางทีนานเป็นหลายชั่วโมงก็มี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความหนาของชิ้นเนื้อด้วย
3. ถ้าใช้ลูกเบอร์รีสดก็ต้องอบให้แห้งเหมือนในข้อ 2 โดยหั่นหรือเจาะรูให้น้ำระเหยออกไปจะช่วยให้แห้งเร็วยิ่งขึ้น หรือจะนำไปตากจนแห้งสนิทดีก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ สูตรเดิมใช้ลูกโช็คเชอร์รีหรือซัสคาทูนซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกาเหนือ แต่จะใช้ลูกบลูเบอร์รี แครนเบอร์รีหรือลูกเบอร์รีอื่นๆ ที่ชอบแทนก็ได้
4. ถ้าใช้น้ำมันสัตว์แบบที่วางขายหรือซื้อจากร้านขายเนื้อตามตลาดหรือซูเปอร์มาเก็ต ก็ต้องเจียวน้ำมันเอง ด้วยการนำเนื้อสัตว์ส่วนที่ติดมันมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่หม้อหรือกระทะเติมน้ำสัก ¼ ถ้วย ตั้งไฟต่ำๆ สัก 2-4 ชั่วโมง คนเป็นระยะๆ เมื่อได้น้ำมันออกมาแล้วก็นำไปกรองด้วยผ้าขาวบางใส่ไว้ในขวดหรือภาชนะที่อากาศเข้าไม่ได้ ตั้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิห้องก่อนจะนำไปเก็บในตู้เย็นต่อไป
เอาล่ะครับ ถึงเวลาทำเพมมิแคนกันแล้ว
5. ตำหรือบดเนื้อแห้งในข้อ 1 และลูกเบอร์รีแห้งในข้อ 2 จดละเอียดเป็นผง ใส่น้ำมันสัตว์และน้ำผึ้ง (ถ้าชอบหวาน) แล้วคนให้เข้ากัน จะให้ดีก็ใช้มือสะอาดๆ ช่วยครับจะได้เข้ากันเร็วขึ้น ถ้าดูแลยังไม่เข้ากันดี ส่วนผสมยังไม่เกาะตัวเต็มที่ก็เติมน้ำมันสัตว์ได้อีกสัก 1 ช้อนโต๊ะ เมื่อเข้ากันดีแล้ว ปั้นเป็นก้อนกลมๆ แบนๆ แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
แค่นี้คุณก็จะได้เพมมิแคน อาหารหรับนักเดินทาง พรานล่าสัตว์และฝีพายเรือแคนนูที่ต้องการพลังงานอย่างมากในการทำภารกิจต่างๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษย์มานานนับพันปีแล้ว เสน่ห์ของส่วนผสมพื้นฐานแบบนี้ก็คือความยืดหยุ่น เราสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อสัตว์และส่วนผสมอื่นๆ ได้ตามต้องการ เหมือนการลองผิดลองถูกที่ทำให้เกิดเมนูและรสชาติใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลาเกิดเป็นการต่อยอดที่หลากหลายไม่สิ้นสุด
อ้อ ฝากไว้นิดหนึ่งครับ ใครที่คิดว่าจะซื้อเนื้อแห้งหรือพวกหมูฉีก หมูหั่นฝอยหรือแม้แต่หมูหยองมาทำ อาจต้องลองคิดใหม่ เพราะมักจะมีส่วนผสมของสารประกอบที่ไม่ดีต่อสุขภาพสักเท่าไหร่ แถมยังทำให้รสชาติเพี้ยนไปด้วย ทางที่ดีทำเองจะดีกว่านะครับ

Related Posts