Kitchen Therapy : ทำอาหาร แก้อาการจิตตก
….
ภาวะหมดไฟในการทำงาน รู้สึกชีวิตไร้ค่า ขาดสมาธิ จิตใจสับสน ซึมเศร้า จิตตก ถูกบุลลี่ ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวความผิดพลาด ยึดกับความ perfect ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ไปแล้วจริงมั๊ยครับ แต่ปัญหาแบบนี้ ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไข ทุกวันนี้เรามีวิธีการบำบัดและเยียวยามากมายหลายทาง และอีกทางเลือกหนึ่งที่นวัตกินอยากนำเสนอวันนี้ก็คือ “การบำบัดด้วยการทำอาหาร” หรือ Kitchen Therapy ที่น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการ “แรงใจ” จากการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่มีประโยชน์มหาศาล
.
ทุกวันนี้ คนเราเปราะบาง ปัญหาหลายอย่างที่บางคนมองว่าไม่เห็นจะยาก แต่สำหรับคนอีกไม่น้อยปัญหาเล็กๆ เหล่านั้นคือปัญหาใหญ่ที่หากไม่ตั้งรับให้ดีอาจส่งผลกระทบมากมายจนคาดไม่ถึง ที่สำคัญคนเราเดี๋ยวนี้มีอาการซึมเศร้ากันมาก คนส่วนหนึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเพราะเกรงจะถูกคนอื่นมองในทางไม่ดี หรือแม้แต่ปัญหาการ “บุลลี่” ที่พบได้ในทุกส่วนของสังคม ยิ่งทำให้คนเรา “ซึมเศร้า” หรือ “จิตตก” ง่ายขึ้นและมากขึ้น
ว่าด้วยอาการ “จิตตก” นั้น มีคำแนะนำว่าให้เลือกวิธีผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรรมที่เราชอบ บางคนเลือกเล่นกีฬาและออกกำลังกาย บางคนเลือกทำสมาธิ ร้องเพลง เล่นดนตรี แต่งกลอน เขียนหนังสือ ทำสวนครัว ถักนิตติ้งหรือโครเชต์ และมีไม่น้อยโดยเฉพาะคนที่ชอบทำและชอบกินอาหาร ซึ่งมักจะเลือกเข้าไปในสถานที่ที่รู้สึกมีความสุขที่สุดซึ่งเห็นจะไม่พ้นห้องครัว เพราะเมื่อเจอปัญหาและต้องการรวบรวมสมาธิเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านั้น บางคนหายเข้าไปทำโน่นทำนี่ในครัว ก่อนจะกลับออกมาอย่างมีสติและจิตใจที่ปลอดโปร่งกว่าตอนเข้าไปด้วยซ้ำ
.
การบำบัดด้วยการทำอาหาร (Cooking Therapy หรือ Kitchen Therapy)
การศึกษาของนักวิชาการด้านการบำบัดเผยว่าการทำอาหารเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยลดความเครียด อาการซึมเศร้าหรืออาการจิตตกได้ แต่การเข้าครัวทำอาหารธรรมดาๆ จะช่วยบำบัดได้จริงหรือ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้คนรักการทำอาหารอุ่นใจได้หรือไม่ ?
รายงานการศึกษาทางจิตวิทยาหลายชิ้นในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาระบุว่ายิ่งคนที่ได้ทำกิจกรรมเล็กๆ แต่สร้างสรรค์บ่อยแค่ไหนก็ยิ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย โล่งอกโล่งใจ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของ ทัมลิน คอนเนอร์และคณะ กล่าวว่า จากการติดตามพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่าง 658 รายเป็นเวลา 2 สัปดาห์พบว่าการทำกิจกรรมเล็กๆ ในแต่ละวันอย่างเช่นการทำอาหารและการอบขนมทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวมากขึ้นและพร้อมเผชิญสิ่งต่างๆ ในวันต่อไป
▪ทัมลิน คอนเนอร์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก (University of Otago) ประเทศนิวซีแลนด์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง Everyday creative activity as a path to flourishing ว่าวงการวิจัยทางจิตวิทยาให้ความสนใจต่อความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่สัมพันธ์กับอารมณ์มากขึ้น แต่งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งหาคำตอบว่าอารมณ์ส่งเสริมหรือยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ไม่เคยตั้งคำถามว่าความคิดสร้างสรรค์มีผลต่ออารมณ์หรือไม่
จากการศึกษาบันทึกรายวันหรือไดอารีของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาพบว่าคนที่ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความคิดสร้างสรรค์มาเกี่ยวข้องเป็นประจำทุกวันจะรู้สึกมีความสุขมากกว่า และยังรู้สึก “เบิกบานใจ” ซึ่งในทางจิตวิทยาหมายถึงบุคคลนั้น “เติบโต” ขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นขณะกำลังดึงถาดขนมปังที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ออกจากเตาอบนั้นอาจคงทนอยู่ได้นานจนถึงวันรุ่งขึ้น และคนอบขนมปังเองก็อยากจะเก็บความรู้สึกดีๆ นั้นไว้
ความคิดสร้างสรรค์กับการทำอาหารนั้นเห็นได้ง่ายที่สุดคือการสร้างเมนูใหม่ๆ จากอาหารที่ค้างจากมื้อก่อน หรือการลองใช้เครื่องปรุงใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ตลอดจนการปรับสูตรอาหารให้เข้ากับเครื่องปรุงที่มีในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการทำอาหารกับความรู้สึกด้านบวก เพราะก่อนหน้านั้นนักจิตวิทยาให้ความสนใจมากขึ้นต่อประเด็นที่ว่าการทำอาหารเป็นเครื่องมือในการบำบัดที่ช่วยให้ผู้คนจัดการกับความเครียดหรือความวิตกกังลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
▪นอร์แมน ซัสแมน (Norman Sussman) นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกาย ได้ใช้แรงให้เหงื่อออก การทำอาหารก็กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเดียวกัน แต่การทำอาหารให้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมทันที และส่งต่อความอร่อยให้คนอื่นได้ด้วย นั่นช่วยสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในจิตใจ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว แม้จะหายจากโรคซึมเศร้าแล้วก็ตาม”
▪จอห์น เวต (John Whaite) แชมป์จากรายการ The Great British Bake Off บอกกับผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ BBC ว่า “เมื่อผมเข้าครัว ได้ชั่งน้ำตาล แป้ง เนยหรือตอกไข่ที่ต้องในสูตรการทำขนม ผมรู้สึกว่าตัวเองจิตใจแน่วแน่ สิ่งนี้สำคัญมากเพราะถ้าผมวอกแวก ผมอาจตวงแป้งผิด ตักเนยมากหรือน้อยไป ใช้ความแรงของไฟไม่ถูกต้อง ย่อมส่งผลต่อขนมของผมด้วย”
นักจิตวิทยาเสนอว่าสำหรับคนที่มีความเครียด การทำอาหารหรือการอบขนมช่วยให้อารมณ์ของพวกเขาดีขึ้นได้ ด้วยการมีใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำแม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ ก็ตาม สิ่งนี้เทียบได้กับการทำสมาธิเลยทีเดียว เพราะอาหารที่จะออกมาดีได้นั้นต้องผสมผสานกันทั้งเครื่องปรุง จังหวะเวลา ความร้อน(หรือความเย็น) และการชิมรส ซึ่งทั้งหมดมีส่วนช่วยบำบัดได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
▪เมลานี เดนเยอร์ (Melanie Denyer) ผู้ก่อตั้ง Depressed Cake Shop ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า “คนจำนวนไม่น้อยจะทำขนมหรือทำกับข้าวตอนจิตตก หลายคนเลือกจะอบขนมเพราะต้องการกิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ”
การทำครัวช่วยลดอาการขาดสมาธิ ขาดแรงจูงใจ จิตตก หมดไฟ ไร้พลังงาน เพราะระหว่างที่จดจ่ออยู่กับการสับหมู การล้างผัก การปอกเปลือกผลไม้ การกวนแยมไม่ให้ติดก้นหม้อ การผัดผักบุ้งไฟแดง แม้กระทั่งการชิม ทั้งหมดนี้คือช่วงเวลาที่เป็นปัจจุบัน ไม่วิตกกับอดีต ไม่พะวงกับอนาคต เหมือนอย่างที่ท่านติช นัท ฮันห์ นักบวชเวียดนามกล่าวว่า “ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด”
การทำครัวทำให้คนเรารู้จักความผิดพลาด การทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำหรือลองเครื่องปรุงใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ย่อมให้ผลทางใดทางหนึ่ง แม้แต่การเปลี่ยนภาชนะหรือใช้ความร้อนต่างไปจากเดิมก็อาจให้ผลต่างไป ซึ่งช่วยให้เราทำใจรับกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เรียนรู้ว่าทุกคนผิดพลาดได้ ไม่มีใคร perfect อาหารที่เราชอบก็ใช่ว่าคนอื่นจะต้องชอบเหมือนกับเรา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ สังเกต จดจำ ทดลองเปิดใจรับกับสิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ ก็จะทำให้เรารู้สึกสบายใจและไม่โทษตัวเองว่าทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะทุกคนเริ่มต้นจากความไม่รู้ โดยเฉพาะในแง่ของอาหารเราเริ่มจากการทำไม่เป็นด้วยกันทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ว่า การทำอาหารช่วยลด “อัตตา” ของเราลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ เรายังเรียนรู้รสนิยมของคนรอบข้างได้จากการปรุงอาหาร ยิ่งถ้าเราทำอาหารให้กับคนในครอบครัว ยิ่งต้องใส่ใจถึง “รสกลาง” ที่ทุกคนกินได้ร่วมกัน หรือกรณีที่ทำอาหารให้คนที่เรารักกินในโอกาสพิเศษ ก็ยิ่งต้องใส่ใจว่าคนคนนั้นชอบหรือไม่ชอบอาหารประเภทไหน แพ้อาหารอะไรหรือไม่ ชอบรสชาติอะไร ทั้งหมดคือความ “ใส่ใจ” ที่คนทำอาหารมีให้กับคนอื่นๆ
….
และแม้ว่าการทำอาหารจะไม่สามารถช่วยรักษาความเจ็บป่วยทางจิตใจได้ทั้งหมด แต่สำหรับคนที่ต้องการยกระดับจิตใจ เห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง มีสมาธิ มีแรงจูงใจ เปิดใจกว้างรับรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติดว่าต้องสมบูรณ์แบบทุกครั้ง ตลอดจนอยากถ่ายทอดความห่วงใจและความใส่ใจผ่านการทำอาหารให้คนรอบข้างเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เลยครับ