แมลงเป็นอาหารข้ามกาลเวลา เรากินมาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งยังส่งเสริมให้เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก หาได้ง่ายและค่อนข้างปลอดภัยสำหรับอนาคตอีกด้วย มนุษย์บริโภคแมลงมานานับศตวรรษ
เรานำแมลงมาปรุงเป็นอาหารอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีข้อมูลว่ามีแมลงกว่า 500 ชนิดที่มนุษย์นำมากินเป็นอาหาร บางชนิดถือเป็นเมนูเด็ดประจำท้องถิ่นที่มีราคาแพงอย่างเช่นการกิน “แตน” ของชาวญี่ปุ่นที่นิยมนำตัวอ่อนของแตนมากินทั้งแบบดิบและแบบสุก นำไปปรุงกับขิง ซีอิ๊วและเหล้ามิริน ได้เป็นตัวอ่อนของแตนที่มีรสชาติคล้ายหอยแมลงภู่หรือหากนำแตนที่ยังไม่โตเต็มวัยไปทอด ก็จะให้รสสัมผัสที่กรอบนอกนุ่มใน
นอกจากนี้ ยังนำไปทำเป็นเป็นยาดองเหล้าอีกด้วย ที่เม็กซิโกมีอาหารราคาแพง คือ หนอนแดง (red worms) ซึ่งเป็นหนอนที่อยู่บริเวณต้นอากาเว หากกินดิบ ๆ หนอนชนิดนี้ให้กลิ่นเหมือนอาหารรมควันและคล้ายกับเหล้าเตกีล่าที่เรียกว่า “แมซเคิล” (Mezcal) ส่วนในแอฟริกานิยมปรุงง่ายๆ ด้วยการนำแมลงต้มแล้วคั่วกับเกลือ ขณะที่พื้นที่ตอนใต้ของประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) มีอาหารประจำฤดูฝนคือ หนอนต้นเชีย (shea caterpillars) ซึ่งมักนำมาตุ๋นเป็นอาหารจานหลัก หรือเอามาทอดเป็นของทานเล่น นอกจากนี้ ด้วงมะพร้าวยังเป็นอาหารยอดนิยมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกอีกด้วย แน่นอนครับ คนไทยเราก็มีกินทั้งแมลงดานา แมลงตับเต่า แมลงกุดจี่ แมลงทับ จิ้งหรีด แมลงกระชอน ตั๊กแตนปาทังก้า แมลงเม่า มดแดง ผึ้ง ต่อ แตน ดักแด้ไหมและหนอนไม้ไผ่ ฯลฯ
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าแมลงเหล่านี้มีปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์อย่างไก่ ปลา หมูและวัวเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน ชาวเกาะนิวกีนีนิยมกินจั๊กจั่น ชาวพื้นเมืองออสเตรเลียกินหนอนบางชนิด ส่วนชาวเกาหลีนั้นกินตั๊กแตนเป็นอาหารมานานแล้ว อาหารชนิดหนึ่งที่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาระยะหนึ่งและได้รับความนิยมไม่น้อย นั่นคือ มดเคลือบช็อกโกแลต ที่สามารถใช้เป็นได้ทั้งของกินเล่นหรือสแน็กไปจนถึงจิ้มกับเครื่องจิ้มที่ชื่นชอบก็ได้ ที่จริงในอาหารตะวันตกมีการนำช็อกโกแลตมาเคลือบอาหารหลายอย่างแล้วทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน แต่ที่คุ้นเคยกันมากหน่อยก็เห็นจะเป็นผลไม้ต่างๆ ที่พอช็อกโกแล็ตมาราดเคลือบเข้าไป ความมันวาวของผิวช็อกโกแลตทำให้ดูหรูหรา กลิ่นหอมและรสละมุนเข้ากันกับรสผลไม้อย่างสตรอว์เบอร์ กีวีหรือแม้แต่กล้วยหอมได้เป็นอย่างดี มดหรือแม้แต่แมลงอื่นๆ อย่างจิ้งหรีด ตัวอ่อนของผึ้ง ดักแด้ไหม ฯลฯ ก็สามารถนำมาเคลือบช็อกโกแล็ตได้ไม่ยาก
บางคนบอกว่ามีรสชาติเหมือนขนมเวฟอร์เคลือบช็อกโกแลตเลยก็มี ถ้าพูดถึงแง่ดี แมลงเป็นอาหารเบากว่าเนื้อสัตว์และหนักกว่าอาหารทะเล ทุกวันนี้มีความพยายามส่งเสริมให้รับประทานอาหารประเภทนี้เพิ่มขึ้น โดยยกประเด็นว่าแมลงคืออาหารแห่งอนาคตที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและลดการก่อก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ที่น่าสนใจก็คือ เรากินแมลงต่างๆ ได้เกือบทุกส่วน แทบจะไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับสัดส่วนของวัวแล้วพบว่าส่วนที่มนุษย์ใช้กินได้จริงๆ ของวัวมีอยู่ประมาณ 40% เท่านั้น จึงไม่ทำให้เกิดขยะมากเท่ากับสัตว์ใหญ่อีกหลายชนิด อย่างไรก็ตาม แม้แมลงจะเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก หาง่ายและมีคุณค่าสูง โดยเฉพาะแมลงดิบ100 กรัม (1 ขีด) มีโปรตีนถึง 9-65 กรัม (ขึ้นอยู่กับชนิดแมลง) แมลงที่ให้โปรตีนมากที่สุดคือตั๊กแตนปาทังก้าและแมงมัน ซึ่งโปรตีนที่ได้จากแมลงใกล้เคียงกับโปรตีนที่ได้จากไข่ไก่ 1 ฟอง หรือหมูบด เนื้อไก่ 100 กรัมเลยทีเดียว
แต่ถ้าเป็นโปรตีนคุณภาพดีก็ต้องยกให้หนอนไหมเลยล่ะครับ …. คำแนะนำ . มีคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคและการนำแมลงมาปรุงเป็นอาหารว่า ควรเป็นอาหารปรุงสุกโดยใช้แมลงที่รู้จักและเป็นแมลงที่มีคนนำมากินได้ และควรจะเลือกชนิดของแมลงที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ อยู่กับป่าละเมาะสวนป่าธรรมชาติ หรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชเลยจะดีที่สุด นอกจากนี้หากเป็นไปได้ควรเป็นแมลงที่จับมาขณะยังมีชีวิตอยู่ และนำมาปรุงเป็นอาหารทันที หลีกเลี่ยงแมลงที่เป็นศัตรูภายในบ้านที่เป็นพาหะของโรคต่างๆเช่น แมลงวันบ้าน แมลงสาบเพราะอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคแบคทีเรีย โปรโตชัว และหนอนพยาธิ เป็นต้น
รวมถึงแมลงที่มีสีสันสดใส ซึ่งจะมีพิษมากกว่าชนิดที่ไม่มีสี หรือสีซีด ที่สำคัญ ควรเด็ดอวัยวะต่างๆ ของแมลง ได้แก่ ปีก ขน ขา หรือ หนามแข็งทิ้งก่อนนำไปกิน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการคันได้ มีแมลงหลายชนิดทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เมื่อสัมผัสถูกผิวหนัง ซึ่งขึ้นอยู่กับความไวของแต่ละคน ดังนั้น คนที่เกิดเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่ายก็น่าจะหลีกเลี่ยงการกินแมลงด้วย เรื่องนี้แม้ว่ายังไม่มีเอกสารอ้างอิงแน่นอนว่าการกินแมลงจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แบบเดียวกับคนที่แพ้กุ้งที่แม้จะกินไปเล็กน้อยก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ เช่น หายใจไม่ออก หรือเป็นลมพิษ ได้เช่นกัน เพราะเคยมีกรณีคนไข้รู้สึกชาบริเวณปากและใบหน้า เมื่อกินด้วงบางชนิด รวมถึงการเกิดคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นผื่นแพ้ตามผิวหนังและท้องร่วงเมื่อกินตั๊กแตนหรือผึ้ง เช่นเดียวกับมีรายงานการเสียชีวิตจากการรับประทานด้วงน้ำมัน (Blister beetle)