INFLIGHT MEAL : เรื่องเล่า วิวัฒนาการ อาหารบนฟ้า

INFLIGHT MEAL : เรื่องเล่า วิวัฒนาการ อาหารบนฟ้า
—-
ในโลกของ “นวัตกิน” ที่ผ่านมานั้น..ย้อนอดีตไปอาหารยุคหินเราก็ไปมาแล้ว ไปคั่วกาแฟในอวกาศเราก็ไปมาแล้ว ไปดูอาหารชนเผ่าอินเดียนแดงเราก็ไปมาแล้ว

ดังนั้นวันนี้ เราเลยว่าจะไม่ไปไหนแบบเดิมๆ แต่เรามาขึ้นเครื่องบินกันดีกว่าครับ

มาขึ้นเครื่องบิน และมาดูกันว่าอาหารบนเครื่องบิน (Flight Meal) ที่เราทานในขณะเดินทางนั้น ก่อนหน้านี้หากย้อนไป 10 ปี ในจุดเริ่มต้นของมันอาหารบนเครื่องมันเป็นแบบนี้ไหม มันมีหน้าตาอย่างไร มีบทบาทอย่างไร

และจากวันนั้นจนวันนี้ “อาหารบนเครื่องบิน” (Flight meal) มันมีการเดินทาง มีวิวัฒนาการ และผ่านความเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง

.
มื้อแรกบนฟ้า

ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา อาหารบนเครื่องบินได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายครับ จากของว่างมื้อเล็กๆ สู่อาหารมื้อใหญ่แสนหรูหรา ก่อนจะกลายมาเป็นอาหารบนถาดพร้อมมีดส้อมพลาสติกอย่างเราคุ้นเคยกัน และนี่คือวิวัฒนาการของอาหารบนฟ้าจากอดีตถึงปัจจุบัน

.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1919 สายการบิน Handley Page Transport ได้ทดลองทำการจำหน่ายอาหารบนเที่ยวบินลอนดอน-ปารีส โดยมีแซนด์วิชกับผลไม้ให้ผู้โดยสารเลือกซื้อในราคา 3 ชิลลิ่ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี (นั่นแปลว่า อาหารชนิดแรกที่ถูกกินบนฟ้าคือแซนด์วิชครับ)

เหตุการณ์นี้ถือเป็นการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินโดยสารครั้งแรกของโลก หลังจากนั้น สายการบินอื่นๆ ก็เริ่มเอาบ้าง พวกเขาเริ่มให้บริการอาหารแก่ผู้โดยสาร

แต่ในสมัยโน้นหลายๆ อย่างยังไม่สะดวกนัก เครื่องบินในยุคก่อนนั้นยังไม่สามารถติดตั้งห้องครัวได้ อาหารที่เสิร์ฟจึงเป็นได้แค่อาหารที่ไม่จำเป็นต้องรับประทานร้อนๆ เช่น ไก่ทอด สลัด แซนด์วิช ชีส และไอศกรีม

โดยอาหารเหล่านี้จะถูกเสิร์ฟมาในตะกร้า หรือภาชนะกระเบื้องที่น้ำหนักเบามากๆ เพื่อจะได้ไม่เพิ่มภาระให้กับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

(นึกภาพแอร์โฮสเตสคล้องตระกร้าหวายที่แขนแล้วก็ดูน่ารักดีนะครับ)

.
ครัวลอยฟ้า..เรือบิน

เมื่อเครื่องบินบินได้ไกลขึ้น สายการบินก็เริ่มเปิดเที่ยวบินระยะไกล ซึ่งผู้โดยสารต้องใช้เวลาบนเครื่องบินนานขึ้น อาหารจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง

ในทศวรรษที่ 1930 “เรือบิน” (เครื่องบินที่บินขึ้นและลงจอดบนผิวน้ำ) คือพาหนะที่ได้รับความนิยม ด้วยขนาดที่ใหญ่และมีหลายชั้น ทำให้เรือบินมีพื้นที่มากพอสำหรับการติดตั้งครัว ผู้โดยสารจึงสามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น เนื้อย่าง หรือกาแฟ ขณะเดินทางบนท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรก

จากนั้น ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารจึงพยายามจะติดตั้งครัวบนเครื่องบินเช่นกัน และเครื่องบินรุ่นแรกที่ทำได้สำเร็จก็คือ Douglas Aircraft DC-3 ซึ่งเริ่มทำการบินในทศวรรษที่ 1940

อีกหนึ่งนวัตกินที่ส่งผลต่อการทำอาหารบนเครื่องบินเป็นอย่างมากก็คืออาหารแช่แข็งครับ กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ปรับปรุงอาหารแช่แข็งให้ดีขึ้น เพื่อเป็นสเบียงของทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เทคโนโลยีผลิตอาหารแช่แข็งจึงก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมากหลังสงครามจบลง

ทีนี้ เมื่อห้องครัวพร้อม และวัตถุดิบพร้อม อาหารบนเครื่องบินที่หลากหลายกว่าเดิมก็พร้อมพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

.
ยุคทองอาหารบนเครื่อง

ในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 การท่องเที่ยวทางอากาศคือกิจกรรมยอดนิยมของเหล่าเศรษฐี สายการบินจึงแข่งขันกันด้วยบริการที่หรูหรา ก่อให้เกิดยุคทองของอาหารบนเครื่องบิน

อาหารในยุคนั้นเสิร์ฟเป็นคอร์สเหมือนภัตตาคารชั้นสูง โดยใช้วัตถุดิบชั้นดีครับ อย่างเนื้อวัว เนื้อแกะ คาเวียร์ ฟัวกราส์ และล็อบสเตอร์ ทุกจานเสิร์ฟมาในภาชนะกระเบื้องที่ออกแบบอย่างสวยงาม พร้อมมีดและส้อมเงิน ส่วนเครื่องดื่มจะเสิร์ฟมาในแก้วคริสตัลสวยหรู และมีเมนูเครื่องดื่มให้เลือกมากมายราวกับอยู่ในบาร์

บริการชั้นเลิศของยุคนั้นยังคงเป็นตำนานเล่าขานมาจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น เบียร์สดที่กดใหม่ๆ จากถัง แฮมรมควันชิ้นโตที่ลูกเรือบรรจงแล่ให้ผู้โดยจากข้างๆ ที่นั่ง เค้กที่สายการบินเตรียมไว้เซอร์ไพรส์ผู้โดยสารที่เดินทางในวันเกิด และเลาจ์บนเครื่องบินที่ผู้โดยสารสามารถรับประทานอาหารบนโต๊ะกลม พร้อมชมวิวภูเขาไฟฟูจิไปด้วย

.
คืนสู่สามัญ

ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา
งานเลี้ยงบนท้องฟ้าก็เช่นกัน..

ในทศวรรษที่ 1970 เครื่องยนต์ไอพ่นได้ทำให้เครื่องบินถึงที่หมายเร็วขึ้น ความต้องการอาหารของผู้โดยสารจึงลดลง

ขณะเดียวกันเครื่องบินก็มีขนาดใหญ่ขึ้น การเสิร์ฟอาหารเป็นคอร์สจึงสิ้นเปลืองเวลามาก อีกทั้งสายการบินยังหันมาแข่งขันด้านราคา เพราะคนทั่วไปเริ่มเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น

เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ สายการบินจึงปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอาหาร โดยเมนูหรูหรายังคงอยู่ แต่สงวนไว้สำหรับผู้โดยสารเฟิร์สคลาส หรือบิสสิเนสคลาสเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารชั้นประหยัดจะได้รับอาหารที่เสิร์ฟง่าย รับประทานง่าย เพื่อประหยัดเวลาในการให้บริการ และประหยัดค่าใช้จ่ายของสายการบิน

แต่อาหารบนเครื่องบินยังต้องพบกับความเปลี่ยนครั้งใหญ่ในปี 2001 เมื่อผู้ก่อการร้ายใช้เครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ 9/11

หลังจากนั้น หน่วยงานด้านการบินพาณิชย์จึงยกระดับการรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบินในทุกด้าน รวมถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์รับประทานอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นประหยัด จากเดิมที่เคยเป็นโลหะให้กลายเป็นพลาสติกด้วย

และที่สำคัญ เหตุการณ์ 9/11 ยังทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกซบเซานานหลายปี สายการบินหลายแห่งต้องปิดตัวหรือล้มละลาย ส่วนที่ยังดำเนินการอยู่ได้ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหารด้วย อาหารบนเครื่องบินจึงมีคุณภาพลดลง หรือถูกยกเลิกไปในบางเที่ยวบิน

.
กว่าจะมาเป็นอาหารบนเครื่องบิน

อาหารบนเครื่องบินในปัจจุบัน จะถูกเตรียมในครัวบนภาคพื้นดินก่อน โดยอาจเป็นครัวของสายการบินเอง หรือครัวของบริษัทที่รับผลิตอาหารให้สายการบินต่างๆ
อาหารจะถูกปรุงให้สุกในระดับหนึ่ง เช่น สเต็กจะถูกปรุงให้สุกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากนั้นจะบรรจุลงภาชนะแล้วเก็บไว้ในห้องเย็น

ก่อนนำอาหารขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ครัวจะนำอาหารใส่ในรถเข็นอาหาร ซึ่งเป็นคันเดียวกับที่จะใช้เสิร์ฟให้ผู้โดยสาร จากนั้นจึงนำไปผ่านความเย็นพร้อมใส่น้ำแข็งแห้งที่ด้านล่างของรถ เพื่อเก็บรักษาอาหารในสภาพดีให้นานที่สุด แต่หากมีเหตุให้อาหารไม่ถูกนำขึ้นเครื่องบินภายใน 6 – 8 ชั่วโมง เช่น เกิดปัญหาเที่ยวบินล่าช้า ทางครัวจะต้องทิ้งอาหารที่เตรียมไว้แล้วทำใหม่ทั้งหมด

เมื่อใกล้เวลาเสิร์ฟอาหาร ลูกเรือจะนำอาหารที่จำเป็นต้องผ่านความร้อนใส่ใน Convection oven หรือเตาอบที่มีพัดลมกระจายความร้อน เพื่อปรุงอาหารต่อจากครัวภาคพื้นดินให้สุกกำลังดี ก่อนจะนำมาเสิร์ฟให้เรารับประทานกันอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั่นเองครับ

เอาล่ะ..ขึ้นเครื่องครั้งต่อไป เวลาพนักงานนำอาหารมาเสริฟลองนึกภาพบรรยากาศในอดีตดูก็น่าจะเพลินดีนะครับ

Related Posts