อาหาร . บังเอิญ . นิยม เรื่องราวอาหารจากความบังเอิญ แต่กลายเป็นที่นิยม

อาหาร . บังเอิญ . นิยม

เรื่องราวอาหารจากความบังเอิญ แต่กลายเป็นที่นิยม

….

คุณๆ คงเคยได้ยินกันมาบ้างเหมือนกันใช่ไหมครับว่าหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกของเรานี้ เกิดขึ้นจากความบังเอิญ เพราะบางเรื่องแม้เราตั้งใจสร้าง วางแผนสารพัด ทั้งตั้งใจทำแต่ก็ไม่ค่อยได้ผลตามที่ตั้งใจไว้ แต่กับบางเรื่อง จู่ๆ อยู่ดีๆ ก็มีเรื่องบังเอิญที่ประจวบเหมาะเกิดขึ้นแล้วมันก็กลายเป็นความสำเร็จซะอย่างงั้น

ในวงการอาหารก็เช่นกันครับ แม้มมนุษย์เราจะพยายามปรับปรุงอาหารให้รสชาติ-รูปลักษณ์ดีขึ้น หรือสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อประดิษฐ์อาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ก็มีตัวอย่างไม่น้อยของเรื่องราวอาหารที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญที่ทำให้เกิดอาหารที่น่าสนใจขึ้นมา

วันนี้ นวัตกินขอนำคุณๆ ไปรู้จักกับอาหาร 5 อย่างที่เกิดขึ้นจากความ “บังเอิญ” ทว่ากลับกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบันกันครับ

1. ไอติมแท่ง..บังเอิญอากาศเย็นลงมาก

ไอศกรีมแท่งหรือถ้าจะเรียกถนัดปากเราๆ ก็คือ ไอติมแท่ง นั้น ในสหรัฐและแคนาดาเรียกว่า พ็อพซีเคิล (popsicle) ตามชื่อยี่ห้อ “พ็อปซีเคิล” (Popsicle) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของไอศกรีมแท่งทุกยี่ห้อ ส่วนในอังกฤษ เรียกว่า ice lolly, lolly ice หรือ ice lollipop ไอร์แลนด์เรียกว่า “freeze pop” บางส่วนของประเทศออสเตรเลียเรียกว่า “ice block” และยังมีคำเรียกต่างๆ กันไปอีกหลายอย่าง ส่วนในประเทศไทยนั้นเดิมเราเรียกไอศกรีมแท่งแบบเดิมว่า “ไอติมหลอด” ตามชื่อแม่พิมพ์สังกะสีทรงกระบอก

ว่ากันว่าไอศกรีมแท่งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1905 เมื่อแฟร็งก์ เอ็ปเพอร์สัน (Frank Epperson) เด็กชายวัย 11 ปี ชาวนครซานฟราสซิสโก ลืมแก้วบรรจุน้ำผสมผงโซดาเสียบแท่งไม้กวนอาหารทิ้งไว้ที่หลังบ้าน พอตกดึก อุณหภูมิลดลง

ครั้นรุ่งเช้า เอ็ปเพอร์สันนึกขึ้นได้ พอจะน้ำโซดามาดื่ม ปรากฏว่าน้ำในแก้วแข็งตัว เขาจึงนำแก้วไปผ่านน้ำร้อนให้น้ำแข็งหลุดจากแก้ว ได้เป็นโซดาแท่งมารับประทาน จากนั้นในอีก 17 ปีถัดมา คือ ปี 1922 เอ็ปเพอร์สันจดสิทธิบัตรของหวานใช้ชื่อเป็นทางการว่า “ไอศกรีมแช่แข็งเสียบไม้” (frozen ice on a stick) โดยใช้ยี่ห้อที่นำชื่อตนเองรวมเข้าไปว่า “ไอศกรีมแท่งเอ็ปซีเคิล” (Epsicle ice pop) ต่อมาย่อเหลือเพียง “พ็อปซีเคิล” (Popsicle)

และไม่นานหลังจากนั้น เอ็ปเพอร์สันก็ขายสิทธิบัตรให้บริษัทบริษัทโจโล (Joe Lowe Company) จากนครนิวยอร์ก

เกร็ดนวัตกิน : ไอศกรีมแท่งของเอ็ปเพอร์สันได้รับความนิยมมาก จนคำว่า พ็อปซีเคิล (popsicle) ได้รับการบรรจุในพจนานุกรมว่าหมายถึงไอศกรีมแท่งทั่วไป ๆ ไม่จำกัดว่าเป็นยี่ห้ออะไร

2. ไอศกรีมโคน..บังเอิญของขาด

เรื่องต้นกำเนิดของไอศกรีมโคนก็ยุ่งยากไม่ใช่เล่นเหมือนกัน เพราะถึงแม้อิตาโล มาร์ชิโอนี (Italo Marchiony) ผู้อพยพชาวอิตาลีจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ไอศกรีมใส่กรวยหรือโคน (ice cream cone) ขึ้นมาเป็นคนแรกตั้งแต่ปี 1903 ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางจนกระทั่งปี 1904 ในงานแสดงสินค้าโลกที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ว่ากันว่ามีคนขายไอศกรีมคนหนึ่งที่ขายดีมากจนภาชนะที่ใช้ใส่ไอศกรีมให้ลูกค้าหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว

จังหวะนั้นเองที่เอิร์นเนสต์ ฮัมวี (Ernest Hamwi) ชาวซีเรียที่ตั้งร้านขายขนมอบหน้าตาคล้ายๆ วาฟเฟิลอยู่ใกล้ๆ กัน เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่าถ้าเอาขนมของเขาที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ยังไม่แข็งตัวเต็มที่ มาม้วนให้มีรูปร่างคล้ายๆ กับกรวย ทิ้งไว้ให้เย็นก็จะนำมาใส่ไอศกรีมได้ แถมไม่สิ้นเปลืองภาชนะด้วยเพราะลูกค้าสามารถกัดกินได้ทั้งไอศกรีมและกรวยไปพร้อมๆ กัน

แน่นอนว่า ผลตอบรับถือว่าดีมาก เพราะกรวยกรอบๆ ที่ฮัมวีคิดขึ้นมานี้กลายเป็นองค์ประกอบหลักในร้านขายไอศกรีมทั่วโลกจนปัจจุบัน

เกร็ดนวัตกิน: ไอศกรีมโคนเป็นของหวานอย่างเป็นทางการของรัฐมิสซูรีนับวันที่ 28 สิงหาคม 2008 เป็นต้นมา

3. มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ..บังเอิญโดนโวย

ทุกวันนี้มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบหรือ Potato chip กลายเป็นของกินเล่นที่รู้จักกันกว้างขวาง มีทั้งแบบทอดใหม่ๆ เสิร์ฟกันร้อนๆ หรือแบบผลิตเป็นอุตสาหกรรมขายกันเป็นล่ำเป็นสันหลากหลายยี่ห้อ

ว่ากันว่าของกินเล่นชนิดนี้มีกำเนิดขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว คือเมื่อปี 1853 โดยชายคนหนึ่งที่เรียกกันว่า จอร์จ ครัม (George Crum) ซึ่งเป็นพ่อครัวอยู่ที่โรงแรมมูนเลกเลาจ์รีสอร์ท ( Moon Lake Lodge Resort) ที่เมืองซาราโตกาสปริงส์ รัฐนิวยอร์ก โรงแรมแห่งนี้มีอาหารขึ้นชื่อคือมันฝรั่งที่หั่นเป็นเส้นๆ ทอด หรือที่รู้จักกันในชื่อเฟรนช์ฟรายส์

แต่ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งลูกค้าโวยวายขึ้นมาว่ามันฝรั่งทอดชิ้นหนาเกินไป ทำให้สุกไม่ทั่ว ต่อมาครัมก็เลยหั่นให้บางลง แต่ก็ไม่วายโดนโวยอีกว่าทำให้เนื้อสัมผัสของเฟรนช์ฟรายส์เสียไป แน่นอนครับ เป็นบางคนอาจปรี๊ดแตกไปแล้ว แต่ครัมใจเย็นครับ พลางคิดว่าไหนๆ ก็หั่นให้บางแล้ว ก็ทำให้สุดไปเลย เขาหั่นมันฝรั่งตามขวางให้บางเหมือนแผ่นกระดาษ (เฟรนช์ฟรายส์หั่นมันฝรั่งตามยาวเป็นเส้นๆ นะครับ) พอนำไปทอดก็จะได้แผ่นมันฝรั่งกรอบๆ ที่ใช้ส้อมตักกินได้

4. วูสเตอร์ซอส..บังเอิญหมักจนลืม

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ “วูสเตอร์ซอส” เท่าไหร่ แต่ถ้าได้เห็นบรรจุภัณฑ์ก็จะร้องอ๋อทันที เพราะเจ้าซอสสีเข้มในขวดคอยาวๆ ฉลากสีส้มๆ นี้ มีอยู่แทบทุกโต๊ะอาหารเช้า ต้นกำเนิดของซอสชนิดนี้ต้องบอกว่าเป็นความบังเอิญ 100% เลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าในปี 1835 มีชนชั้นสูงของเมืองวูสเตอร์ (Worcester) นำซอสทของเมืองเบงกอล ประเทศอินเดีย ซึ่งเขาได้ลองชิมแล้วเกิดติดอกติดใจในรสชาติกลับมายังอังกฤษ แล้วขอให้จอห์น เวลลีย์ ลี (John Wheeley Lea) และวิลเลียม เพอร์รินส์ (William Perrins) ที่เปิดร้านขายยาอยู่ในเมืองดังกล่าวช่วยถอดสูตรแล้วผลิตขึ้นมาให้ใหม่

ทั้งคู่ทดลองด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ชิมเพื่อสันนิษฐาน (ก็คือ เดา อย่างมีหลักการนั่นล่ะครับ) ว่ารสชาติในส่วนผสมที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอีกทวีปหนึ่งนั้น น่าจะประกอบด้วยอะไรบ้าง และหลังจากชิมจนมั่นใจแล้วก็สรุปว่าซอสนี้น่าจะมีส่วนผสมหลักๆ คือหัวหอม กระเทียม น้ำส้มสายชูและน้ำมะขาม จากนั้นก็เป็นส่วนผสมอื่นๆ อย่างปลาแอนโชวี (Anchovy) และเครื่องเทศต่างๆ ที่ทำให้รสชาติซอสกลมกล่อมยิ่งขึ้น จากนั้นพวกเขาก็นำส่วนผสมที่คิดได้ใส่ขวดโหลเก็บไว้ในห้องใต้ดิน คงกะว่าจะหมักให้ได้ที่เสียก่อน แต่ปรากฏว่าทั้งคู่คงมีธุระหลายอย่างจนลืมเรื่องนี้ไปเลย

กระทั่งอีกหลายปีต่อมา เมื่อมีการทำความสะอาดห้องเก็บของใต้ดินก็พบโหลใส่ส่วนผสมที่ถูกลืมไปแล้วอยู่ในนั้น ทั้งคู่คิดว่าไหนๆ ก็ลงมือทำแล้ว ลองชิมดูก็ไม่เสียหาย(ละมั้ง) ก่อนจะเททิ้ง เพราะคิดว่าเก็บไว้นานขนาดนี้คงบูดคงเสียแน่แล้ว

แต่พอชิมไปเท่านั้นละครับ โอ้โห! ปรากฏว่าซอสที่เก็บไว้ข้ามปีนี้ มีรสชาติจัดจ้านและอร่อยกว่าที่คิดเอาไว้เสียอีก จากนั้นทั้งคู่จึงเริ่มผลิตและขายซอสชนิดนี้ในเชื่อ ลีแอนด์เพอร์รินส์ (Lea & Perrins) และกลายเป็นซอสประจำโต๊ะอาหารมาตลอดจนทุกวันนี้

เกร็ดนวัตกิน: คนไทยรู้จักวูสเตอร์ซอสอีกชนิดหนึ่งมานานแล้ว คือ ซอสตราไก่งวง ที่หลายคนคิดว่าเป็นซอสเปรี้ยว หรือ จิ๊กโฉ่ว ของจีน แต่ไม่ใช่เลยครับ ซอสตราไก่งวงคล้ายกับวูสเตอร์ซอส แต่ต่างกันที่ซอสตราไก่งวงไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ส่วนซอสเปรี้ยวหรือจิ๊กโฉ่ว นั้นมีส่วนผสมของน้ำส้มสายชูกับซีอิ๊วเป็นหลัก

5. โคคา-โคลา..บังเอิญว่าจะทำยาแก้ปวดหัว

ลำดับที่ 5 ของอาหารบังเอิญคือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก และแพร่หลายไปทั่วโลกตั้งแต่วันที่มันถูกผลิตขึ้นจวบจนปัจจุบัน แต่เรื่องราวคือ แรกเริ่มเดิมที ส่วนผสมฟองซ่านี้ไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อเป็นเครื่องดื่มนะครับ เพราะมันถูกผลิตขึ้นมาโดยเภสัชกรเพื่อใช้เป็นยาบำรุงประสาทและแก้อาการปวดศีรษะต่างหาก

เรื่องมีอยู่ว่าในปี 1886 จอห์น เพมเบอร์ตัน (John Pemberton) ทำส่วนผสมชนิดหนึ่งขึ้นมาซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “ไวน์ฝรั่งเศสผลิตจากโคคาสูตรของเพมเบอร์ตัน” (Pemberton’s French Wine Coca) เป็นยาผสมแอลกอฮอล์ที่ทำขึ้นมาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยของคนงานในร้านซักรีด

แต่ต่อมาปรากฏว่ารัฐจอร์เจียที่เพมเบอร์ตันอาศัยอยู่นั้น ออกกฎหมายห้ามผสมแอลกอฮอล์ลงในตำรับยา เขาจึงต้องหันไปปรับปรุงสูตรโดยถอดเอาแอลกอฮอล์ออกแล้วใช้น้ำหวานที่มีรสชาติของน้ำตาลไหม้หรือคาราเมล แทน

ว่ากันว่า เมื่อแรกนั้นเพมเบอร์ตันไม่ได้ตั้งใจจะเพิ่มน้ำอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำโซดาลงไปในเครื่องดื่มสูตรใหม่นี้เลยครับ แต่ต่อมาเขาเกิดไอเดียว่าถ้าทำให้ส่วนผสมมีฟองพร่างพรายก็น่าจะใช้แทนแอลกอฮอล์ได้ แม้ว่าต้นกำเนิดของเครื่องดื่มชนิดนี้จะเป็นยา แต่พอเติมโซดาลงไปมันก็กลับทำให้ส่วนผสมที่ว่านี้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากได้

ทว่า หลังจากนั้นไม่นานเพมเบอร์ตันก็เสียชีวิต อาซา กริกส์ แคนด์เลอร์ (Asa Griggs Candler) เจ้าพ่อธุรกิจของเมืองแอตแลนตา ก็เข้าบริหารกิจการของเพมเบอร์ตันแล้วตั้งบริษัทโคคา-โคลา ของตัวเองขึ้นมา ด้วยความหลักแหลม แคนด์เลอร์เปิดฉากการโฆษณาอย่างเต็มที่จนทำให้เครื่องดื่มชนิดเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในเวลาไม่นาน และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างสูง เรียกว่าผลิตและบรรจุขวดออกขายให้กับบรรดาชาวอเมริกันผู้กระหายแทบไม่ทัน ยิ่งทุกวันนี้ โคคา-โคลาก็ยังเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มขายดีตลอดกาล

Related Posts