ทุก Menu มีเรื่องเล่า

🥗Ceasar Slad เกิดจากความมั่ว..
🍖Wellington Beef เกี่ยวอะไรกับแฟชั่นรองเท้าบู้ท..
🍛เมนูไก่นักปราชญ์ที่สร้างในสมัย ‘ราชวงศ์ชิง’..
🍪Biscuit อะไรเกิดจากเรื่องเกียรติยศ..
🍵และ Earl Gray Tea จากนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่เวอร์ชั่นแรกยังไม่เป็นแบบนี้

ทุก Menu มีเรื่องเล่าครับ..
และนี่คือที่มาของ 5 อาหารจานเด็ดที่เกิดขึ้นจากคนดังที่นวัตกินนำมาเล่าสู่กันฟังครับ


ขอแนะนำกันแบบง่ายๆ ครับว่า

‘นวัตกิน’ เป็นเพจของคนชอบ “นวัตกรรม” ชอบ “อาหารการกิน” และก็ชอบ ‘เรื่องเล่า’ ครับ และพวกเราก็ทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหารด้วย (ก็เลยจับสามคำนี้มาผสมและทำเป็นเพจกันซะเลย)

แน่นอนว่า ในโลกของ ‘นวัตกรรมและอาหารการกิน’ นั้นมีความรู้ ข้อมูลและเรื่องเล่าที่มีประโยชน์ซ่อนอยู่มากมายครับ

ดังนั้น ในฐานะที่พวกเราเป็นคนที่ทำงานนวัตกรรมอาหารกันเป็นอาชีพ (ไว้จะเล่าให้ฟังนะครับ) และพวกเราก็ชอบศึกษาเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องอยู่เสมอ

‘นวัตกิน’ จึงขอเป็น ‘นักเล่าเรื่องนวัตกรรมอาหาร’ Food Innovation Storyteller คอยนำเรื่องราว ความรู้ และเกร็ดไอเดียต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ
.

สำหรับวันนี้ อย่างที่ขึ้นต้นไว้ เรามาลองดูเรื่องที่มาและการเกิดขึ้นของเมนูอาหารดังหลายๆ จานที่เราคุ้นๆ กันหน่อยดีมั้ยครับว่า เมนูที่เราชอบทาน เคยทาน (หรืออาจแค่เคยได้ยิน) นั้น จริงๆ แล้วมันมีที่มายังไงและเกี่ยวข้องกับคนสำคัญเหล่านี้ยังไงกันแน่

1. ซีซาร์สลัด (Caesar salad)..สลัดมั่วแต่มากฝีมื
เมนูนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจูเลียสซีซาร์ของโรมันอย่างที่เรามักเข้าใจกันเลยนะครับ แต่ “ซีซ่าร์” ที่ว่านี้ได้มาจาก ซีซาร์ คาร์ดินี (Caesar Cardini, 1896-1956) ชาวอิตาลีเจ้าของโรงแรมซีซาร์ในเมืองติฮัวนา ประเทศเม็กซิโกต่างหาก
.
เล่ากันมาว่า..วันหนึ่ง ห้องอาหารในโรงแรมต้องต้อนรับลูกค้าจำนวนมากจนอาหารในครัวไม่เพียงพอ ซีซาร์ คาร์ดินี จึงแสดงฝีมือนำวัตถุดิบที่เหลือๆ มาคลุกเคล้ากันเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งผลคือได้สลัดจานใหญ่เสิร์ฟให้ลูกค้าทุกคนทานได้ ถึงจะเป็นสลัดมั่ว แต่ก็เรียกได้ว่ามั่วแบบมีฝีมือ สลัดจานที่ว่าจึงมีรสชาติอร่อยและกลายเป็นเมนูประจำห้องอาหารในโรงแรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
.
โดยสูตรดั้งเดิมของซีซาร์สลัดนั้น หัวใจของซีซาร์สลัด คือ ผักกาดโรเมน (Romaine Lettuce) มันฝรั่ง เศษขนมปังกรอบ พาร์มิซานชีส กับน้ำสลัดใสที่ปรุงขึ้นจากเครื่องปรุงหลายชนิด ปัจจุบันมีการเพิ่มความหลากหลายด้วยเครื่องปรุงในสลัดเข้าไปอีกหลายอย่าง

2. บีฟเวลลิงตัน ( Wellington Beef) ..จานโปรดจากผู้นำแฟชั่นรองเท้าบูท
.
เมนูนี้ได้ชื่อตาม อาร์เธอร์ เวลเลสลีย์ หรือดยุกแห่งเวลลิงตันคนที่ 1(Arthur Wellesley, 1st Duke of Wellington, 1769-1852) ซึ่งเป็นวีรบุรุษคนสำคัญของอังกฤษในยุทธภูมิวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ที่รบกับฝรั่งเศส อาหารจานนี้ทำด้วยสเต๊กเนื้อสันใน (fillet steak) ราดด้วยปาเต (pâté) ซึ่งเป็นซอสทำจากเนื้อบดละเอียด หรือเนื้อกับตับสับหยาบ ๆ ผสมไขมัน ผัก ไวน์มาเดียรา สมุนไพรและเครื่องเทศ แต่ส่วนมากนิยมใช้ “ปาเตเดอฟัวกรา” (pâté de foie gras) ที่ทำจากตับของห่านที่ขุนจนอ้วน ดักเซล (duxelles) ซึ่งเป็นเห็ดทอดแล้วห่อในพัฟเพสตรี (puff pastry) แล้วนำไปอบ
.
กล่าวกันว่า เมื่อพ่อครัวประจำบ้านทำอาหารจานนี้ขึ้นมาเสริฟ มันก็กลายเป็นของถูกและเป็นที่พอใจของท่านอย่างมาก..มากจนถึงกับสั่งให้มีเสิร์ฟทุกครั้งที่มีงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการ
.
เกี่ยวกับเมนู “เนื้อเวลลิงตัน” นี้ ยังมีเกร็ดอีกอันที่น่าสนใจคือ รูปทรงของอาหารจานนี้ซึ่งดูคล้ายกับรองเท้าบูทหนังทรงสูง ที่เรียกว่า “รองเท้าบูทเวลลิงตัน” (Wellington boot) นั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจถูกออกแบบมาโดยมีความเกี่ยวข้องกับดยุกท่านนี้เช่นกัน เพราะดยุกแห่งเวลลิงตันคนนี้คือผู้ที่นำรองเท้าบูทแบบนี้มาสวมใส่จนทำให้กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ด้วย

3. ขนมบิสกิตการิบัลดี (Garibaldi biscuit) ..บิสกิตเพื่อเป็นเกียรติ
.
ขนมอังกฤษชนิดนี้ได้ชื่อมาจากจูเซปเป การิบัลดี (Giuseppe Garibaldi, 1807–1882) นายพลชาวอิตาลีผู้รักชาติเขามีบทบาทสำคัญในการรวมชาติอิตาลีพร้อมสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลี และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำทางการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคใหม่เมื่อการิบัลดีเดินทางไปอังกฤษในปี 1864
.
ดังนั้น เพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ครั้งนั้น บริษัทพีกเฟรนด์ (Peek Freans) ในอังกฤษก็ทำขนมชนิดนี้ขึ้นมา ส่วนในอเมริกาก็มีการผลิตในหลายบริษัท และถึงจะมีการทดลองเปลี่ยนเป็นไส้นมและไส้ช็อกโกแลต แต่ก็วางขายได้ไม่นาน ปรากฏเป็นว่าไส้ลูกเกดแบบเดิมยังเป็นนิยมตลอดมาจนปัจจุบัน ขนมบิสกิตการิบัลดีมีลักษณะเป็นขนมปังกรอบหรือบิสกิตสองแผ่นบางๆ ประกบกันมีไส้เป็นลูกเกดสับละเอียดเหมือนแซนด์วิชบิสกิต นิยมกินกับชาหรือกาแฟ และถ้าในเวลาที่ไม่เป็นทางการก็จะเห็นคนนำขนมชนิดนี้จุ่มในเครื่องดื่มแล้วกินอย่างเอร็ดอร่อย ขนมชนิดเดียวกันนี้บางประเทศเรียกชื่อต่างออกไป เช่น ออสเตรเลียเรียกว่า ฟูลโอฟรุต (Full O’Fruit) ขณะที่นิวซีแลนด์เรียกว่า “ฟรุตลี” (Fruitli)

4. ไก่กงเป่า (Kung Pao chicken)..เดินทางมาไกลจากยุคราชวงศ์ชิง
.
มาทางเอเชียกันบ้าง..อาหารในตำนานแบบนี้ จะไม่มีพี่จีนได้อย่างไร
ไก่กงเปาชื่อเป็นภาษาจีนว่า กงเป่าจีติง (宫保鸡丁 หรือ gōng bǎo jī dīng) ซึ่งบางทีเรียกย่อเป็น กงเป่า หรือ กงโป่ ก็มี อาหารจานนี้เป็นอาหารเสฉวนได้ชื่อตาม ติงเป่าเจิน (Ding Baozhen, 1820–1886)
ติงเป่าจิน นั้นเป็นข้าราชการในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง แน่นอนว่าเขาเป็นบุรุษที่สำคัญคนหนึ่งของแผ่นดินจีนในยุคนั้น เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลชานตงและมณฑลเสฉวน อีกทั้งยังได้เป็นข้าราชการราชสำนักตำหน่ง “กงเป่า” หรือสมุหราชมณเฑียรด้วย โดยเอกสารสำคัญบางชิ้นกล่าวว่าเขาคือปราชญ์ผู้ถวายพระอักษรแก่องค์รัชทายาทด้วย
ซึ่งเป็นไปได้ว่า ท่านปราชญ์อาจจะชอบทานไก่..เพราะอาหารจานนี้มีลักษณะคล้ายไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่คนไทยรู้จักกัน แต่สูตรของเสฉวนจะทอดเนื้อไก่ก่อนนำไปผัด ขณะที่สูตรดั้งเดิมนั้นมีเพียงไก่หมักกับเหล้า ถั่วลิสง ต้นกระเทียม (leek) กับพริกไทย ผัดด้วยกันเท่านั้น ทีนี้ด้วยความเป็นอาหารจานอร่อย..ในเวลาต่อมาสูตรดังกล่าวก็แพร่หลายและมีการปรับเปลี่ยนไปอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสูตรเสิร์ฟบนกะทะร้อน รวมถึงเปลี่ยนจากไก่เป็นเนื้อสัตว์อื่นๆ อย่างหมู เป็ด ปลา กุ้ง ขากบ หรือแม้แต่ เต้าหู เป็นต้น

5. ชาเอิร์ลเกรย์ (Earl Grey Tea)
ชาเอิร์ลเกรย์เป็นชาดำชนิดผสมประเภทหนึ่ง ได้ชื่อตามผู้ปรุงขึ้นมาเป็นคนแรกคือ ชาร์ล เกรย์ ผู้ดำรงตำแหน่งเอิร์ลเกรย์คนที่ 2 (Charles Grey, 2nd Earl Grey, 1764-1845) เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 1830 – 1834 โดยสาเหตุที่มิสเตอร์ชาร์ลคนนี้ ปรุงชาสูตรนี้ขึ้นเกิดจากการพยายามเลียนแบบชา “เจิ้งซานเสี่ยวจง” ซึ่งเป็นชาเลอค่าที่มีราคาสูง โดยเอกลักษณ์ของชาเอิร์ลเกรย์ คือกลิ่น กลิ่นหอมของน้ำมันมะกรูดทำให้ชานี้เป็นที่รู้จักในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1820และได้รับความนิยมจากทั่วโลกจนปัจจุบัน ว่ากันที่ชื่อ..แต่เดิมชาชนิดนี้รู้จักในชื่อ “เกรยส์ (Gray’s Tea)” มาก่อน (ยังไม่มีคำว่า เอิร์ล) จนกระทั่งในปี 1880 บริษัทชาร์ลตัน แอนด์โค ตัดสินใจโฆษณาชานี้ในชื่อ “เอริล์เกรย์” มันจึงกลายเป็นคำใหม่ที่ติดปากและเรียกขายกันเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ชาเอิร์ลเกรย์นั้นนิยมดื่มในช่วงบ่าย คู่กับขนมเค้กหรือของว่างต่างๆ เช่น แซนด์วิช แยมโรล มาการง หรือขนมสกอน (สโคน) เป็นต้น และต่อมามีการคิดสูตรชาผสมเปลือกผลไม้จำพวกเลมอนและส้มที่เรียกว่า ชาเลดีเกรย์ (Lady Gray) รวมถึงในปี 2011 บริษัททไวนิง (Twining) ซึ่งเป็นต้นตำรับชาเอิรล์เกรย์ก็ประกาศการปรับเปลี่ยนสูตรชาเอิลร์เกรย์แบบดั้งเดิม โดยการเพิ่มน้ำมันมะกรูดและซิตรัสลงไปด้วยจึงกลายมาเป็นรสชาติชาเอร์ลเกรย์ที่เราๆ ได้ท่านกันในทุกวันนี้

Related Posts