….
ภาพอาหารญี่ปุ่นที่เราพบเห็นกันทุกวันนี้ เกือบทั้งหมดเป็นภาพถ่ายที่จัดองค์ประกอบของภาพ ตลอดจนแสงเงาและรายละเอียดต่างๆ อย่างตั้งใจให้ดึงดูดความสนใจของลูกค้า
แต่ยังมีศิลปินผู้หนึ่งที่ยืนเด่นแหวกกระแสด้วยการผลิตรูปวาด เท่านั้นยังไม่พอ ตัวเขายังมีข้อจำกัดที่ความพิการด้วย แม้จะอยู่บนเตียงมากว่า 12 ปี แต่เขาก็ยังวาดภาพอาหารทุกอย่างที่เขาได้กิน ทุกเมนูไม่เพียงบันทึกความทรงจำแต่ยังบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น
….
แต่ละวัน อิตซึโอะ โคบายาชิ (Itsuo Kobayashi) จะวาดทุกอย่างที่เขาได้กิน แม้จะเป็นความชอบส่วนตัว แต่ภาพวาดของเขากลับเป็นหลักฐานที่ดีของความรักและใส่ใจในรายละเอียด หลายชิ้นถูกนำไปจัดแสดงไว้ตามหน้าร้านอาหารญี่ปุ่น แท่นโชว์ชุดอาหารกล่องหรือเบนโตะ (bento) วางประกอบในรายการโทรทัศน์ และได้รับการเผยแพร่ไปในระดับโลก
ห้องทำงานของโคบายาชิคือห้องนั่งเล่นที่มีเตียงแบบปรับในบ้านที่เมืองไซตามะ ใกล้เตียง มีมีถ้วยใส่ปากกาสารพัดสี ปากกามาร์กเกอร์ กระดาษ ใบปลิวและหนังสือ ส่วนที่ขาดไม่ได้ก็คือรีโมทโทรทัศน์กับเครื่องปรับอากาศ
เขาเล่าว่าตอนอายุ 18 ปี เขาเข้าทำงานร้านอาหารและทำอยู่นานถึง 18 ปีด้วยเช่นกัน ต่อมาเขาเข้าเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหารและให้ความสนใจกับการทำซูชิกับการทำอาหารสำหรับคนสูงอายุตามบ้านเป็นพิเศษ เขาทำงานเกี่ยวกับอาหารต่อมาอีกกว่า 20 ปี จนมีปัญหาสุขภาพจึงมาอยู่บ้าน
ความสนใจในศิลปะของโคบายาชิเริ่มขึ้นตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกชมรมศิลปะตอนเรียนมัธยม ส่วนแรงบันดาลใจให้เขาวาดอาหารที่ได้กินนั้นเริ่มขึ้นเมื่อเขาทำงานดูแลผู้ป่วยตามบ้าน และเมื่อเขาล้มป่วยเสียเองจึงเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการใช้เวลาอยู่บนเตียงและวาดภาพ
เขาเล่าว่า “ร่างกายผมเป็นอย่างนี้มา 12 ปีแล้ว วันๆ ผมจะดูโทรทัศน์ หลับหรือนั่งวาดรูปเป็นหลัก ผมวาดรูปอาหารเพราะเราต้องกินอยู่ทุกวัน ผมไม่ชอบอ่านหรือเขียนหนังสือเท่าไหร่”
โคบายาชิกับแม่ผู้ชราของเขาไม่สามารถทำกับข้าวได้ อาหารทุกอย่างจึงมาจากการส่งจากร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารกล่องหรือร้านขายของชำใกล้บ้าน
การพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์มาเยี่ยมเขาที่บ้านและได้เห็นภาพอาหารที่เขาวาด ได้สร้างแรงบันดาลอย่างมากจนนำไปสู่การจัดนิทรรศการแสดงภาพผลงานของโคบายาชตามห้องแสดงภาพต่างๆ รวมถึงหอศิลปะสำหรับผู้พิการของเมืองไซตามะและได้รับความสนใจจากนักจัดการศิลปะ (art dealer) จำนวนมาก นับแต่นั้นมา โคบายาชิก็ตระเวนจัดแสดงผลงานไปทั่วญี่ปุ่นและต่างประเทศอย่างเทศกาลศิลปะ “คนนอก” (Ousider Art Fair) ที่นิวยอร์ก
แต่ละภาพของโคบายาชิใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะแล้วเสร็จ พอวาดภาพหนึ่งเสร็จ เขาก็เริ่มวาดภาพใหม่ต่อเนื่องโดยไม่เสียเวลาพักผ่อน “ผมมีเวลามากมายเหลือเกิน ผมเก็บใบปลิว สูตรแม้แต่ฉลากบรรจุภัณฑ์อาหารไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการร่างภาพที่มักจะทำบนหน้าว่างของปฏิทินเก่า”
ผู้คนที่ได้ชมผลงานต่างส่งกระดาษ ปากกา สีและอุปกรณ์การวาดภาพอื่นๆ มาให้เขาเสมอ โคบายาชิซาบซึ้งกับสิ่งเหล่านี้ แต่เขาก็บอกว่า “ผมรู้สึกขอบคุณ แต่ไม่อยากให้เสียของ ผมเลยเก็บของที่ส่งมานั้นไว้อย่างดี ที่สำคัญผมมีปฏิทินเก่าให้ร่างภาพมากพอแล้ว” ถึงโคบายาชิจะชอบกินอาหารอร่อยๆ แต่ไม่มีเมนูไหนของเขาราคาเกิน 2,000 เยน (ประมาณ 580 บาท) เลย เขารู้ว่าหลายเมนูราคาสูงถึง 3,800 เยน (ประมาณ 1,100 บาท) ขณะที่หลายรายการราคา 5,000 เยน (ประมาณ 1,500 บาท) ก็มี แต่เนื่องจากไม่เคยกิน เขาเลยใช้วิธีจำรายละเอียดแล้วนำมาวาดแทน ส่วนเมนูที่เขาโปรดปรานที่สุดคือนาเบะยากินอุด้ง (Nabeyaka Udon) หรืออุด้งหม้อไฟ ภาพวาดแต่ละภาพไม่เพียงบันทึกความทรงจำแต่ยังเป็นการบันทึกความรู้สึกที่มีต่อรสชาติของอาหารแต่ละรายการที่เขาได้กิน เขาบอกว่า “เมื่อผมวาดคัตซึด้ง (katsudon) หรือข้าวราดหน้าหมูทอดกับไข่และผัก ผมจำรสชาติของมันได้ดี คัตซึด้งแต่ละชามมีความแตกต่างกันเหมือนกันอารมณ์และรายละเอียดในภาพที่ผมวาดขึ้นมา”
“ถึงผมจะต้องนอนอยู่อย่างนี้มา 12 ปีแล้ว แต่ผมก็ดีใจที่ผลงานของผมเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผมใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น แม้แต่โทรศัพท์มือถือก็ยังเป็นแบบฝาเปิดปิดอยู่ ผมว่าตัวเองตกยุคไปหลายปีแล้วนะ” โคบายาชิหัวเราะ “ทุกครั้งที่มีคนสละเวลายากธุรกิจยุ่งเหยิงมาพูดคุยกับผม นั่นแหล่ะ ที่ทำให้ผมมีความสุข”