กว่าจะมาเป็นสายไหม

กว่าจะมาเป็นสายไหม
.
รู้หรือไม่ว่า สายไหม หรือที่ฝรั่งเรียกว่า candy floss, cotton candy หรือ fairy floss นั้น มีกำเนิดจากงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของโลกเมื่อกว่า100 ปีมาแล้ว

สายไหมเป็นขนมหวานที่เกิดจากการเคี่ยวน้ำตาลให้ร้อนจนละลายเป็นของเหลว แล้วนำไปปั่นด้วยความเร็วสูง น้ำตาลที่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วจะจับตัวเป็นผลึกอีกครั้งในรูปเส้นใยบางๆ ขนาดประมาณ 50 ไมครอน หรือ 0.05 มิลลิเมตร ที่ดูเผินๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือก้อนเมฆ สีต่างๆ ของสายไหมเกิดจากการเติมสีผสมอาหารลงไป ส่วนการขายก็มีทั้งแบบพันรอบแกนไม้ให้ถือกินได้ บางทีก็ใส่กรวยกระดาษหรือถุงพลาสติก

แม้หลายคนจะพยายามอ้างว่าเป็นผู้กำเนิดสายไหม แต่หลักฐานของเรื่องนี้อยู่ที่สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นในปี 1897 โดยความร่วมมือกันระหว่างทันตแพทย์วิลเลียม มอร์ริสัน กับคนทำขนมหวาน ชื่อ จอห์น ซี. วอร์ตัน และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนครั้งแรกในงานแสดงสินค้าระดับโลก หรือ World’s Fair ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ที่ัจัดขึ้นในปี 1904 เพื่อฉลองวาระ 100 ปีของการที่สหรัฐซื้อรัฐลุยเซียนาจากฝรั่งเศส

สายไหม หรือ Fairy Floss ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวครั้งแรก โดยมียอดขายถึง 68,655 กล่อง เวลานั้นขายกันอยู่ที่กล่องละ 25 เซนต์ซึ่งคิดเป็นเงินในปัจจุบันก็ในราว 7 ดอลลาร์ (รวมเป็นเงินเท่าไหร่ก็ลองคำนวณดูนะครับ)

แต่ตอนที่คุณหมอมอร์ริสันกับคุณวอร์ตันเปิดตัวเครื่องทำสายไหมนั้น พวกเขาไม่ได้จดสิทธิบัตรไว้ก่อน ทำให้ในปี 1905 อัลเบิร์ต ดี. โรบินสัน ชาวเมืองลินน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ก็ได้จดสิทธิบัตร “เครื่องปั่นขนมหวานไฟฟ้า” ซึ่งเป็นชื่อสิ่งประดิษฐ์ที่เขาสร้างขึ้น และอีก 2 ปีถัดมา (1907) เขาก็ขายสิทธิบัตรนั้นให้แก่บริษัท General Electric ในนิวยอร์กซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับเครื่องทำสายไหมที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา มีการปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้นและมีขนาดพอเหมาะสำหรับตั้งขายในร้านค้า ตลาดนัดและงานรื่นเริงต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องให้มีความเร็วสูง (ประมาณ 3,450 รอบต่อนาที) ทำงานต่อเนื่องและมีระบบการป้องกันไฟฟ้าช็อต ส่วนเครื่องทำสายไหมแบบหยอดเหรียญนั้นพัฒนาขึ้นครั้งแรกในไต้หวัน ขณะที่ทุกวันนี้มีเครื่องทำสายไหมขนาดเล็กสำหรับทำเองในงานเลี้ยงเล็กๆ ตามบ้านให้สั่งซื้อแบบออนไลน์ได้ด้วย

เดิมสายไหมมีเพียงสีขาวสีเดียวเพราะทำจากน้ำตาล ต่อมามีการเติมสีผสมอาหารลงไปเพื่อสร้างสีสันต่างๆ ซึ่งสายไหมที่ได้ก็จะมีสีอ่อนหรือสีพาสเทล โดยสีที่นิยมกันมาก คือ สีฟ้าและสีชมพู ที่มาพร้อมกับรสชาติ คือ สีฟ้าเป็นรสราสเบอร์รี ส่วนสีชมพูเป็นรสวานิลา และหากนำทั้งสองสีมาผสมกันก็จะทำให้ได้สายไหมสีม่วงแปลกตา ทุกวันนี้แม้สีที่ยอดนิยมก็ยังคงเป็นสีฟ้ากับสีชมพูเหมือนเดิม แต่ก็มีสีและรสชาติอื่นๆ มาสร้างความตื่นตาให้กับลูกค้าอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นรสน้ำพริกมะม่วงเปรี้ยวหวานอมเผ็ด รสคาราเมลผสมเกลือเค็มๆ หวานๆ รวมไปถึงรสชาเขียวกับลิ้นจี่ และรสเลมอนเนดสตรอว์เบอร์รี
ข้อเสียอย่างเดียวของสายไหมคือการที่มันแพ้ความชื้น ยิ่งในพื้นที่อากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา สายไหมจะเยิ้มเป็นน้ำเหนียวๆ เร็วมาก เชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์สายไหมเหนียวติดมือกันมาแล้ว

แต่กระนั้น สายไหมก็ยังเป็นขนมหวานที่มีแรงดึงดูดสูง ด้วยสีสัน รูปร่างและกระบวนการทำน่าที่ตื่นใจสำหรับผู้ได้พบเห็นโดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักจะไปยืนมุงดูคนขายทำสายไหมทีละอันๆ อย่างใจจดใจจ่อ เด็กบางคนถึงกับเคยฝันว่าวันหนึ่งเมื่อโตขึ้นจะเป็นคนขายสายไหมกันเลยทีเดียว

ส่วนเรื่องน้ำตาลในสายไหมที่หลายคนกังวลนั้น บอกเลยว่าน้อยกว่าน้ำอัดลมยี่ห้อดังในตลาดด้วยซ้ำ แต่ต้องเตือนกันไว้หน่อยว่ากินแล้ว อย่าลืมแปรงฟันให้สะอาดด้วยนะครับ

Related Posts