กว่าขนม ‘เยลลีรูปหมี’ ของฮาริโบจะครองอันดับ 1 ในตลาดมาจนทุกวันนี้ พวกมันมีเส้นทางของพัฒนาการที่น่าสนใจไม่น้อย รวมถึงพวกมันยังฝ่าพันปัญหามามากมาย ไม่ว่าจะป็นการยืนหยัดสู้กระแสโจมตีจากปัญหาแรงงาน , ปัญหาส่วนผสมที่อาจส่งผลต่อยอดขาย และอื่น
วันนี้ ‘นวัตกิน’ มีเรื่องราวของเยลลีในความทรงจำวัยเด็กของเรามาฝากกันครับ
.
▪ จุดเริ่มต้น
ปี 1920 ฮันส์ เรเกล (Hans Riegel) คนงานในฐานะยากจนของโรงงานทำขนมแห่งหนึ่งในกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ตัดสินใจว่าถ้าขืนทำงานแบบนี้ต่อไปคงไม่มีอนาคตแน่ เขาทั้งเนื้อทั้งตัวเขามีแค่น้ำตาล 1 กระสอบ แผ่นหินอ่อน กาต้มน้ำ เตาอบและไม้นวดแป้ง แต่ยังดีที่ภรรยาของเขาเข้าใจและช่วยเต็มที่ ทั้งสองคนช่วยกันทำลูกกวาดกันที่บ้านแล้วใส่ตะกร้ารถจักรยานไปเร่ขาย
นี่คือจุดกำเนิดของบริษัทฮาริโบ (Haribo) ผู้ผลิตขนมเยลลีรูปหมีอันโด่งดังครับ
.
▪ เยลลีรูปหมีเต้นระบำ
ขนมเนื้อนุ่มที่มีส่วนผสมของเจลาติน (gelatin-based chews) มีต้นกำเนิดขึ้นที่อังกฤษเมื่อปี 1909 อย่างยี่ห้อจูจูบส์ (Jujubes) และยี่ห้อชักเคิลส์ (Chuckles) ที่ออกวางในปี 1920 และ 1921 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับขนมที่เรเกลทำขึ้นมาแล้ว ด้วยสูตรที่ต่างกันทำให้ขนมของฮาริโบมีเนื้อสัมผัสดีกว่าและได้รับความนิยมมากกว่า ที่สำคัญขนมอังกฤษทั้ง 2 ยี่ห้อไม่ใช้แม่พิมพ์รูปสัตว์เหมือนอย่างเยลลีของเรเกลเลยแม้แต่รายเดียว
จุดเริ่มต้นของรูปหมีเกิดขึ้นหลังจากเรเกลผลิตขนมขายมาแล้ว 2 ปี เขาคิดว่าเพื่อให้อยู่รอดในการแข่งขัน ถึงตอนนี้สินค้าของเขาต้องการจุดขายที่ชัดเจนและโดนใจลูกค้าให้มากที่สุด เขาเห็นเด็กๆ ชอบกินลูกกวาดผสมเยลลีนุ่มๆ ของคู่แข่งแล้วมาคิดต่อว่าในเมื่อเด็กๆ ก็ชอบหมีอยู่แล้ว ทำไมเขาไม่สินค้าใหม่ให้ถูกใจกลุ่มลูกค้าหลักซึ่งก็คือเด็กๆ บ้างล่ะ
ว่าแล้วเขาก็คิดสูตรแล้วทำขนมเยลลีนุ่มๆ รสผลไม้รูปหมีเต้นระบำ (Tanzbär) ขึ้นมาซึ่งมีรูปร่างต่างจากขนมเยลลีรูปหมี หรือ Gummibär ที่รู้จักกันในปัจจุบันอยู่เล็กน้อย เมื่อขนมเยลลีรูปหมีเต้นระบำของเรเกลออกสู่ตลาดก็ปรากฏว่าเด็กๆ ชาวเยอรมันนิยมชมชอบขนมรูปร่างแปลกใหม่นี้เป็นอย่างมากจนต้องเพิ่มกำลังการผลิต กระทั่งปี 1930 จากกิจการในครอบครัวที่ทำกันอยู่สองคน บัดนี้บริษัทมีโรงงานผลิตขนมถึง 160 แห่ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้นในปี 1938 บริษัทมีพนักงานกว่า 400 คน และสามารถผลิตขนมได้มากถึงวันละ 10 ตัน
.
▪ การฟื้นตัวหลังสงคราม
สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ส่งผลกระทบต่อกิจการของเรเกลด้วย ตัวเขาเสียชีวิต ลูกชาย 2 คนตกเป็นเชลยสงคราม บริษัทลดขนาดลงเหลือพนักงานเพียง 30 คนเพื่อประคับประคองกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ เมื่อลูกชายของเขาได้รับการปล่อยตัวกลับมาก็ช่วยกันฟื้นฟูบริษัทจนสำเร็จในปี 1950 มีพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 คน มีการเปิดโรงงานอีกหลายแห่งทั่วยุโรป และส่งออกสินค้าของบริษัทไปขายทั่วโลก พร้อมๆ กับการเปลี่่ยนแปลงขนมเยลลีรูปหมีเต้นระบำเป็นหมีสีทองตัวป้อมๆ ที่เห็นกันในปัจจุบันและส่งไปขายในสหรัฐตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา
▪ คู่แข่งกับความเป็นต้นตำรับ
แน่นอนว่าบริษัทฮาริโบย่อมต้องปิดสูตรขนมเยลลีอันโด่งดังของตัวเองไว้เป็นความลับ แม้จะมีบริษัทคู่แข่งทำของเลียนแบบขึ้นมาหลายแบบ รวมถึงเยลลีรูปหนอนของบริษัทโทรลลี – Troilli) แต่ฮาริโบก็ยังครองแชมป์ผู้ผลิตขนมเยลลีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะไม่เพียงแต่ขนาดเท่านั้น แต่ยังผลิตขนมได้มากกว่าวันละ 80 ล้านชิ้นส่งขายไปทั่วโลก
▪ บุกตลาดอเมริกัน
ตลาดอเมริกาถือว่าเป็นความท้าทายของบริษัทฮาริโบอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นในเยอรมนีและยุโรปรู้จักขนมเยลลีรูปหมีดีอยู่แล้ว สำหรับสหรัฐแม้จะผลิตเยลลีเป็นรูปไดโนเสาร์ มังกร หรือรูปใดก็ตาม แต่เยลลีรูปหมีก็ยังคลาสสิกและถือเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมนี้อยู่ หลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีคือการที่บริษัทดิสนีย์สร้างการ์ตูนที่มีเรื่องราวการเดินทางของเยลลีในชื่อ “การผจญภัยของกัมมีแบร์” (The Adventures of the Gummi Bears) ออกฉายทางช่อง NBC ในปี 1985-1991
เยลลีหมีสร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการสร้างสถิติขนมเยลลีรูปหมีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยน้ำหนัก 5 ปอนด์ หรือ 2.27 กิโลกรัม สูง 9 นิ้วครึ่งหรือประมาณ 24 เซนติเมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่กว่าขนมเยลลีรูปหมีขนาดปกติที่ขายกันทั่วไปถึง 1,400 เท่า จุดขายอีกอย่างหนึ่งก็คือขนมเยลลีรูปหมี(ยักษ์)นี้เป็นงานหัตถกรรมก็คือผลิตด้วยมือโดยไม่ใช้เครื่องจักรจึงทำให้มีราคาถึงตัวละ 30 ดอลลาร์ (ราวๆ 955 บาท) นอกจากนี้ยังมีการคำนวณว่าด้วยขนาดและน้ำหนักเช่นนี้ ถ้ากินเข้าไปจะได้พลังงาน 12,600 แคลอรี ซึ่งมากกว่าอาหารที่คุณกินอยู่ประจำวันถึง 5 เท่า และสามารถใช้พลาสติกห่อเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 2 ปี
▪ กระแสโจมตี
แม้ในระยะหลังจะมีกระแสโจมตีเรื่องการใช้แรงงานทาสในในบราซิล รวมถึงการเผยแพร่วีดิโอที่แสดงให้เห็นว่าแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ การทำงานเยี่ยงทาส รวมถึงภาพที่ชวนตกตะลึงของฟาร์มหมูที่ผลิตเจลาตินส่งไปทำเป็นเยลลีที่อยู่ในสภาพสกปรก ไม่ได้มาตรฐาน หมูเป็นโรค ซึ่งนำไปสู่ข้อสงสัยว่าในเมื่อมีการใช้เจลาตินจาหมูแล้วมุสลิมและคนที่กินอาหารโคเชอร์ (Kosher หรือมาตรฐานอาหารสำหรับชาวยิว) จะกินได้หรือ ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคือกินไม่ได้ จึงทำให้ในโรงงานในบางประเทศอย่างตุรกีต้องเปลี่ยนไปใช้เจลาตินจากวัวเพื่อให้ได้รับการรับรองตราฮาลาล ส่วนสินค้าผลิตในเยอรมนีและออสเตรียยังคงใช้เจลาตินจากหมูเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฮาริโบยังคงเป็นขนมเยลลีรูปหมีที่ขายดีอันดับ 1ในอเมริกา รวมถึงตลาดขนมประเภทกัมมี (gummy) ทั่วโลก ในปี 2559 บริษัทมีรายได้ 3,180 ล้านเหรียญหรือประมาณ 104,940 ล้านบาท และจัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของบริษัทผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ขนมหวานของโลก มีฐานการผลิตทั้งในเยอรมนีและนอกประเทศอย่างตุรกีรวมถึงอีก10 ประเทศทั่วโลก ผลิตขนมเยลลีรูปหมีได้วันละ 100 ล้านตัวด้วยจำนวนพนักงานเกือบ 7,000 คน
ส่วนในเมืองไทย นอกจากเราจะมีสินค้าของฮาริโบซึ่งนำเข้าจากตุรกีให้เลือกซื้อหากันหลายรสชาติแล้ว ยังมีขนมกัมมีแบร์ที่บริษัทของไทยผลิตขึ้นเองและรู้จักกันมากว่า 40 ปีแล้ว นั่นคือ จอลลีแบร์ และสินค้าในเครืออย่างจอลลีโคลา เยลลีรูปขวดกลิ่นโคลาและจอลลีสติก ขนมเคี้ยวเหนียวๆ ห่อด้วยพลาสติกรูปสัตว์ต่างๆ ที่แม้จะสู้สินค้าของฮาริโบที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าไม่ได้ แต่ก็มีให้พบเห็นได้อยู่บ้างตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ
ส่วนใครจะชอบสีสันหรือรสชาติของยี่ห้อไหนก็เชิญได้ตามอัธยาศัยเลยนะครับ ที่สำคัญอย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจึงต้องใส่ใจเรื่องนี้ด้วยนะครับ