5 เทศกาลอาหารแปลกรอบโลก

5 เทศกาลอาหารแปลกรอบโลก
โลกเรามีเทศกาลต่างๆ มากมาย หลายเทศกาลมีอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง วันนี้เพจนวัตกินจะพาไปรู้จักกับเทศกาลอาหารแปลกๆ รอบโลก ซึ่งคัดเลือกมานำเสนอสัก 5 รายการ เผื่อว่าจะเป็นจุดหมายในการเดินทางท่องเที่ยวครั้งหน้าของคุณๆ กันครับ

เทศกาลกินลูกอัณฑะ (วัว)
.
อัณฑะวัว ! ใช่ครับ…ของแท้แน่นอน

แม้ว่าเทศกาลซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคลินตัน รัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา นี้จะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘เทศกาลหอยนางรมแห่งเทือกเขาร็อกกี้’ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ของทุกปี ก็ตาม แต่จุดเด่นของงานคือ ‘ลูกอัณฑะวัวทอด’ ที่เสิร์ฟให้กับผู้มาร่วมงาน ซึ่งสามารถเลือกได้ทั้งแบบทอดน้ำมันท่วมธรรมดา แบบชุบแป้งผสมเบียร์แล้วนำไปทอดให้กรอบนอกนุ่มใน หรือแบบหมักในเครื่องปรุงแล้วทอดให้หอมกรุ่น ใครที่สนใจก็จ่ายเงินแค่ 5 ดอลลาร์ก็จะได้ชุดเริ่มต้นหรือชุดทดลองชิมมาลิ้มรส ถ้าชอบก็สั่งแบบชุดใหญ่มากินได้เลย

ส่วนไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของเทศกาลนี้ คือเกมที่มีชื่อว่า Bullshit Bingo ที่มีเงินรางวัลถึง 100 ดอลลาร์ ให้แก่ผู้โชคดีที่เดาได้ว่าวัวจะเดินไปบนหยุดตรงไหนของตารางที่แบ่งเป็นช่องๆ เหมือนในเกมบิงโก นั่นเอง

จะบอกว่าเทศกาลนี้ไม่ดังก็ไม่ได้นะครับ เพราะปรากฏว่าทั้งในและนอกสหรัฐ มีการจัดงานทำนองเดียวกันกับเทศกาลที่ว่านี้หลายต่อหลายแห่ง แต่ไม่แน่ใจว่าบ้านเรามีหรือเปล่า ใครทราบช่วยบอกทีนะครับ

เทศกาลเนื้อกระป๋อง
.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกันที่เดินทางไปประจำการอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายซึ่งต่อมากลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐนั้น ได้รับการปันส่วนอาหารกระป๋องซึ่งในจำนวนนั้นมีเนื้อบดสีชมพูดอัดแน่นอยู่ในกระป๋องสีน้ำเงินยี่ห้อสแปม (Spam) ด้วย

แม้เวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้ว ทุกวันนี้ในเดือนเมษายน ของทุกปี ฮาวายยังมีเทศกาลที่จัดขึ้นพร้อมๆ กับการประกวดMr. and Miss Spam ซึ่งคัดเลือกจากพ่อครัวแม่ครัวที่สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ในการปรุงเนื้อกระป๋องชนิดนี้เป็นอาหารนานาชนิด ทั้งเบอร์เกอร์ ไปจนถึงชูชิที่ใช้เนื้อแทนปลา และทุกปีจะนำรายได้จากการจัดงานมอบเป็นการกุศลสมทบในกองทุนธนาคารอาหารของฮาวายที่ทำหน้าที่ดูแลผู้อดอยากหิวโหยต่อไปด้วย

แต่สแปมซึ่งเป็นยี่ห้ออาหารกระป๋องนี้ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสแปมที่เป็นการส่งข้อความที่ผู้รับไม่ได้ร้องขอ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคล้ายๆ กับเมลขยะแต่อย่างใดนะครับ

เทศกาลปาส้ม
.
เราเคยได้ยินเทศกาลปามะเขือเทศของสเปนที่จัดกันแบบปิดเมืองเล่นกันอย่างครึกครื้นมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ แต่ที่นี่ ที่อิตาลีก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปีนั้น ชาวเมืองอิฟเรีย (Ivrea) ในแคว้นตูริน จะจัดเทศกาลปาส้มซึ่งจัดกันต่อเนื่องมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยมีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งเมือง มีการเดินพาเหรดไปตามถนนสายต่างๆ ส่วนไฮไลท์ของงานคือการที่เด็กหญิงจะปาส้มจากระเบียงหน้าบ้านของตัวเองกะให้ถูกเด็กชายที่ตนสนใจ นัยว่าเป็นการบอกว่า “เธอๆ…เราแอบมองเธออยู่นะ” แล้วเด็กชายก็ปาส้มกลับคืนบ้าง แต่ก็เป็นแค่การปาแบบหยอกๆ เท่านั้นนะครับ ยังไม่มี “สงคราม” ที่ปาส้มใส่กันอย่างเอาเป็นเอาตายจนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา

ปัจจุบัน เทศกาลนี้พัฒนาไปจนถึงกับการแบ่งผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเล่นออกเป็นทีม มีทั้งทีมภาคพื้นดิน และทีมที่นั่งรถม้าไปตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งความสนุกจะเริ่มต้นขึ้นทันทีที่ส้มลูกถูกปาออกไปยังฝ่ายตรงข้าม

เทศกาลปาลูกกวาด
.
สเปนไม่ได้มีดีแค่เทศกาลปามะเขือเทศเท่านั้นนะครับ อีกหนึ่งเทศกาลที่มีอาหารมาเกี่ยวข้อง นั่นคือ เทศกาลปาลูกกวาดของเมือง Vilanova i La Geltrú ซึ่งเดิมเป็นการประท้วงคำสั่งของนายกรัฐมนตรีฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ของสเปนที่ห้ามการจัดเทศกาลคาร์นิวัล ที่ตอนนี่นี้กลายเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

เทศกาลนี้จะจัดขึ้นในวัน Fat Tuesday ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลมาร์ดิกราส โดยมีจุุดไฮไลท์อยู่ที่ “สงครามเมอร์แรง” (Meringue Wars) ซึ่งร้านเบอเกอรีจะจัดเตรียมขนมพายไว้ให้เด็กๆ ที่มาร่วมงานใช้เป็นอาวุธปาเข้าใส่กัน ส่วนผู้ใหญ่ก็จะแต่งตัวสวยงามตามอย่างเทศกาลมาดิกราส์ ก่อนจะร่วมสนุกกับเด็กๆ ตามท้องถนนด้วยการขวางลูกกวาดและขนมหวานน้ำหนักรวมกว่า 200,000 ปอนด์เข้าใส่กันอย่างสนุกสนาน ก่อนจะปิดท้ายเทศกาลด้วยการฝันปลาซาร์ดีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลมหาพรตและการอดอาหาร

เทศกาลวิ่งแพนเค้ก
.
ที่ประเทศอังกฤษ วัน Shrove Tuesday หรือวัน Pancake Day นั้น มีเทศกาลสนุกเทศกาลหนึ่งจัดขึ้น กล่าวคือในวันนี้ สาวๆ บริติช ทั้งสาวน้อยและสาวไม่น้อยที่เมืองออลนีย์ (Olney) จะแต่งตัวชุดแม่บ้านแบบย้อนยุคมีทั้งกระโปรง ผ้ากันเปื้อนและผ้าพันคอครบชุดแล้วออกจากบ้านมาวิ่งเป็นระยะทาง 415 หลา หรือเกือบ 400 เมตร ไปตามถนนเส้นทางในตัวเมือง พร้อมๆ กันอย่างสนุกสนาน

เทศกาลวิ่งแพนเค้ก หรือแป้งจี่ฝรั่งนี้ หลักฐานว่าเริ่มจัดขึ้นกันตั้งแต่ปี 1445 มาแล้ว จากเดิมเป็นการวิ่งสนุกสนาน แต่ต่อมาก็มีการขยายเป็นการแข่งขันจนเป็นกิจกรรมประเพณีระดับนานาชาติ โดยเพิ่มการแข่งขันวิ่งขนมแป้งจี่หรือ ระหว่างทีมเจ้าบ้านซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านอังกฤษ กับทีมผู้ท้าชิงคือกลุ่มหญิงสาวจากรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

โดยจากสถิติ ทั้งสองทีมผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา ส่วนสถิติล่าสุด ผลการแข่งขันเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทีมเจ้าบ้านจากเมืองออลนีย์คว้าตำแหน่งแชมป์ไปครองครับ

Related Posts