1. ตายยกครัวเพราะขนมสีสวย
.
เรื่องนี้เกิดไม่ไกลจากบ้านเราเท่าไหร่เลยครับ คือ ที่รัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ขณะที่ครอบครัวหนึ่งกำลังเตรียมการต้อนรับสมาชิกใหม่ซึ่งเป็นทารกเพศชายอ้วนจ้ำม่ำน่ารักน่าชัง พ่อผู้ตื่นเต้นก็รีบออกไปซื้อขนม “ลาดู” สีสันสวยงามซึ่งปั้นเป็นก้อนกลมรสออกหวาน ๆ หอมเครื่องเทศมาใช้ในงานฉลอง แต่เด็กชายผู้เคราะห์ร้ายกลับต้องสูญเสียพ่อและอีก 11 ชีวิตไปในวันเกิดของตัวเอง
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าที่ข้างๆ ร้านขนมนั้นเป็นร้านขายอุปกรณ์กำจัดแมลงที่กำลังปรับปรุงซ่อมแซมอยู่ แถมเจ้าของร้านขนมยังใจดีรับฝากถุงยาฆ่าแมลงจำนวนหนึ่งจากร้านติดกันไว้จนกว่าจะซ่อมร้านเสร็จ แต่ก็ยังไม่ฟันธงว่ายาฆ่าแมลงไปอยู่ในขนมได้อย่างไร
ในที่สุดเจ้าของและลูกจ้างของร้านก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัย เพราะมีคนอีกกว่า 70 คนป่วยหนักจากการรับเอาสารพิษในยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนขนมจากร้านแห่งนั้น ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิตในเวลาต่อมาถึง 23 คน
2. หมากฝรั่งระเบิดกับหนุ่มน้อยนักทดลอง
.
พอได้ยินคำนี้ แว็บแรกผมคิดว่าคงมาจากการ์ตูนหรือนิยายแฟนตาซีหลุดโลก แต่ที่ไหนได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ ที่ยูเครน เมื่อผู้เป็นแม่ได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นที่ห้องลูกชาย เธอรีบวิ่งไปดูด้วยความเป็นห่วง แต่แล้วสิ่งที่พบทำให้แม่ร้องกรี๊ดออกมาด้วยความตกใจ บนสิ่งที่เคยเป็นใบหน้าของลูกชายนั้นแหลกเละแทบมองไม่เห็นเค้าเดิม
วัยรุ่นเคราะห์ร้ายรายนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ใช้เวลาช่วงวันหยุดยาวกลับมาพักผ่อนที่บ้าน เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ออกจะสติเฟื่องหน่อยๆ แม้ทุกคนในครอบครัวและเพื่อนๆ จะรู้ถึงกิตติศัพท์ความเป็นนักทดลองของเขา แต่ไม่มีใครคิดว่าเขาจะต้องมาเสียชีวิตแบบนี้
แม้เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบละเอียดขนาดไหนแต่ก็ยังระบุไม่ได้ว่าทำไมหมากฝรั่งเกิดระเบิดขึ้นมา ทุกคนเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุ ไม่มีทางที่ชายหนุ่มผู้มีอนาคตคนนี้จะฆ่าตัวตายแน่ๆ
3. แอปเปิ้ลเคลือบยาพิษ
.
คุณๆ คงไม่คิดใช่ไหมครับว่า แอปเปิ้ลพิษจะมีอยู่จริงๆ ผมเองก็ไม่เชื่อเหมือนกันครับ เพราะตั้งแต่เด็กๆ เรามักจะได้ยินเรื่องนี้จากนิทานสโนว์ไวท์ซึ่งตอนท้ายเรื่องมีเจ้าชายรูปงามมาช่วยถอนคำสาปของแม่มดใจร้าย แต่เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ต่างจากนิยายโดยสิ้นเชิง
เมื่อเดือนมกราคม 2015 ชาวสวนแอปเปิ้ลแคลิฟอร์เนียถึงกับต้องตัดต้นแอปเปิ้ลพันธุ์แกรนด์นีสมิธและพันธุ์กาลาทิ้งหลังจากเกิดการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ ลิสทีเรีย โมโนไซโตเจน ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้แต่ละปีมีคนล้มป่วยกว่า 1,600 คนและเสียชีวิตประมาณ 260 คน
เรื่องนี้ถ้าจะว่าไปก็ไม่ใช่เฉพาะแอปเปิ้ลนะครับ ที่จริงมีผลไม้ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคอยู่หลายชนิด แต่แอปเปิ้ลดูจะมีแนวโน้มมากกว่าเพื่อน โดยเฉพาะเมื่อหญิงตั้งครรภ์ เด็กและคนที่มีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้วกินผลไม้เหล่านั้น และถ้าจะให้หนักแน่นมากขึ้นก็ต้องบอกว่าการติดเชื้อแบคทีเรียที่ว่านี้มาจากขนมที่เรียกว่า caramel apples หรือแอปเปิ้ลเคลือบคาราเมลที่บางครั้งก็มีการโรยถั่วและท็อปปิ้งอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเอร็ดอร่อยให้กับทุกคำที่กัดเข้าไป
แม้ในเวลาต่อมาจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่การที่มีคนตายเพราะกินแอปเปิ้ลปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก็ยังหลอกหลอนชาวอเมริกาใน 10 รัฐเป็นอย่างน้อยอยู่เรื่อยมาก
4. ฆาตกรรมเยลลีซ่อนเงื่อน
.
การเสียชีวิตของแรนดี ทอมป์สัน นักผจญเพลิง และ เกลน เทอร์เนอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูเผินๆ เหมือนทั้งคู่เป็นหวัดแล้วจู่ๆ ก็สิ้นใจไปหลังล้มป่วยเพียง 24 ชั่วโมงด้วยอาการหัวใจวาย
แต่เมื่อนำศพไปผ่าพิสูจน์ เจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนความคิดเพราะสาเหตุของหัวใจวายของทั้งสองคนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นถูกวางยาพิษ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในศพของนักผจญเพลิงและเจ้าหน้าที่ตำรวจมีปริมาณสารเอทิลีนไกลคอลซึ่งเป็นของเหลวไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่มีรสหวาน มีความเป็นพิษระดับกลาง นิยมใช้เป็นสารป้องกันน้ำแข็งตัวและสารหล่อเย็น ซึ่งหากกินเข้าไปจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดออกซาลิกซึ่งเป็นพิษต่อประสาทส่วนกลาง หัวใจและไต
จูเลีย ลีน เทอร์เนอร์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมนี้ทันที แม้เธอจะปฏิเสธ แต่ผลประโยชน์จากเงินประกัน 186,000 เหรียญที่เธอจะได้รับจากการเสียชีวิตของสามี (เกลน เทอร์เนอร์) และเพื่อนชาย (แรนดี ทอมป์สันป) เป็นแรงจูงใจที่ไม่อาจละเลยได้
ในที่สุด เทอร์เนอร์ก็สารภาพว่าเธอให้ทั้งคู่กินขนมแครกเกอร์และเยลลีหลายชิ้นเมื่อเขาเริ่มแสดงอาการผิดปกติหลังได้รับพิษเข้าไป เพราะคิดว่าสีและความข้นของขนมทั้งสองชนิดจะช่วยปิดบังร่องรอยของสารป้องกันน้ำแข็งตัวได้ แต่แล้วเธอก็หนีไม่รอด หลังถูกจับเธอฆ่าตัวตายในห้องขังด้วยการกินยาเกินขนาด
5. หวานเป็นยา(พิษ)
.
ภาษิตที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ถึงจะจริงแค่ไหน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าถ้าเลือกได้ขอรสหวานดีกว่า แต่ก็นั่นแหล่ะครับ อะไรๆ ถ้ามากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดี อย่างกรณีของรสหวานนี่เห็นได้ชัดทีเดียว เพราะเมื่อไม่นานมานี้ สมาคมเคมีอเมริกาออกมาเปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับปริมาณที่เป็นพิษของขนมหวานและลูกกวาดที่แจกจ่ายให้แก่เด็กๆ ในคืนวันฮาโลวีน ไม่ว่าจะเป็นลูกกวาดข้าวโพด (candy corn) อมยิ้มดัมดัม (dum dum) ขนมเคลือบคาราเมลยี่ห้อดังอย่างชูการ์เบบี้ (sugar babies)
เกณฑ์ที่ใช้กำหนดความเป็นพิษของขนมหวาน เรียกว่า LD50 ซึ่งเป็น “ปริมาณต่อกิโลกรัมที่สามารถฆ่าสัตว์ทดลองได้ครึ่งหนึ่ง” ซึ่งในกรณีของน้ำตาล อยู่ที่ 13.5 กรัมต่อปอนด์ หรือ 0.45 กิโลกรัม คำนวณง่ายๆ ว่าผู้ใหญ่น้ำหนัก 180 ปอนด์ หรือประมาณ 80 กิโลกรัมจะต้องรับน้ำตาลเข้าไป 5.4 ปอนด์หรือ 2.5 กิโลกรัม จึงเกิดอาการเป็นพิษขึ้นมา
เมื่อนำสูตรดังกล่าวมาคิดคำนวณเป็นปริมาณขนมหวานที่แจกจ่ายกันในคืนวันฮาโลวีนก็ได้เท่ากับอมยิ้ม 262 แท่ง หรือลูกกวาดข้าวโพด 1,627 อัน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าคงไม่มีใครกินเข้าไปมากขนาดนั้นแน่ แต่ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเด็กๆ ที่น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์คำนวณที่ว่าไป (ต่ำกว่า 80 กิโลกรัม) ปริมาณขนมหวานที่อาจเป็นพิษถึงตายก็ย่อมน้อยลง นั่นก็เท่ากับว่าความตายที่มาแบบเงียบเชียงอยู่แค่ปลายนิ้วของเด็กๆ เท่านั้น
เรื่องของเราตอนนี้อาจจะดูหดหู่ไปสักหน่อย แต่ทั้งหมดคือความจริงครับ ลำพังอาหารและขนมทำให้ใครตายไม่ได้ง่ายๆ หรอกครับ แต่ถ้ามีการปนเปื้อนที่จะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือประมาทพลาดพลั้งก็ตาม ความตายก็อยู่แค่เอื้ิอมเท่านั้น ถือว่าฟังไว้เป็นอุทธาหรณ์ก็แล้วกันนะครับ