ว่ากันว่า แม้ผู้ชายจะดูเหมือนแข็งแรงและมักได้รับบทเป็นผู้นำ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วผู้หญิงนั้นแข็งแกร่งกว่าผู้ชายเยอะหลายเท่า พวกเธอบางคนเป็นผู้สร้าง ผู้เปลี่ยนแปลง พวกเธอบางคนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชาย พวกเธออีกหลายคนสร้างสิ่งใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลายๆ ครั้งของ “โลกใบนี้” ก็เกิดจากผู้หญิงเก่งและแกร่งจำนวนมาก
ผู้หญิงเหล่านี้กินอะไรกัน?
หรือพวกเธอให้กำเนิด “เมนูอาหาร” อะไรใหม่ๆ ออกมารึเปล่า ?
ในฐานะคนอาหาร และเพจอาหารเราก็ต้องตั้งคำถามแบบนี้ใช่มั้ยครับ ดูไม่เกี่ยวแต่ก็เกี่ยวจนได้เนอะ
ดังนั้น วันนี้นวัตกินจึงมีเรื่องเล่าของ 5 เมนูจากสตรีคนสำคัญของโลกมาฝากครับ
นี่แหละเรื่องเล่านวัตกรรมอาหารแบบเพจเรา:)
โรซา พาร์ก ผู้เรียกร้องความเท่าเทียม
.
วันหนึ่งในเดือนธันวาคม 1955 แม่บ้านธรรมดาๆ ในเมืองมอนโกเมอรี รัฐอะลาบามา นามว่า โรซา พาร์ก ขึ้นรถประจำทางสายถนนคลีฟแลนด์ (Cliveland Avenue) หมายเลข 2857 กลับบ้าน ซึ่งในเวลานั้นยังมีการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างคนผิวสีและผิวขาวที่เรียกว่า Segregate หรือเรียกว่า “ความเท่าเทียมกันที่ไม่เท่าเทียม” ก็ได้
แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐจะกำหนดไว้ว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ยุคนั้นรัฐทางใต้ยังไม่ยอมรับ แถมออกกฎหมายให้มีบริการหรือสิทธิ์ต่างๆ แก่ทุกคน แต่ไม่รวมกัน เช่น คนผิวดำได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับคนผิวขาวแต่ต้องแยกโรงเรียนกัน คนผิวดำขึ้นรถประจำทางได้เหมือนคนผิวขาว แต่นั่งได้เฉพาะด้านหลัง ถ้ามีคนผิวขาวขึ้นมา คนผิวดำต้องสละที่นั่งของให้คนผิวขาวนั่ง
โรซา พาร์ก ต้องพบแบบนี้ทุกวัน ใช่ว่าเธอจะก้มหัวกับข้อกำหนดนั่นทุกอย่าง ในทางตรงข้ามทีเดียว เธอไม่เห็นด้วย อึดอัด ไม่ยอมรับ และรู้สึกว่าเธออดทนมานานเกินพอแล้ว เธอจะไม่ทนอีกต่อไป
ดังนั้น เมื่อพนักงานขับรถเดินมาบอกเธอว่า เธอต้องสละที่นั่งให้กับผู้ชายผิวขาวที่เพิ่งขึ้นมา เธอจึงปฏิเสธ แม้จะว่าจะถูกจับและปรับ เธอก็ยังยืนยันว่ามีสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่คนผิวสีกว่า 40,000 คนเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกัน หรือ Montgomery Bus Boycotจนนำไปสู่การแก้กฏหมายเรื่องการแบ่งแยกการขึ้นรถประจำทาง
ขณะเดียกวันโรซา พาร์คส์ ก็กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนผิวสี และรถประจำทางหมายเลข 2857 ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เช่นกัน
โรซา พาร์ก ใช้เวลาตลอดชีวิตของเธอเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียมโดยไม่ถูกจำกัดด้วยสีผิว เธอเป็นนักพูดที่มีคนติดตามฟังจำนวนมากและเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียกร้องสิทธิพลเมืองหลายต่อหลายคน กระทั่งเสียชีวิตในปี 2005
นอกเหนือจากงานเขียนหลายๆ ชิ้นของเธอ มีผู้พบตำรากับข้าวเขียนไว้บนที่ว่างด้านหลังซองจดหมาย เป็นวิธีทำแพนเค้กเนยถั่วเนื้อเบาเหมือน “ขนนก” ที่ใช้เพียงแป้งสาลีอเนกประสงค์ ผงฟู เกลือ น้ำตาล ไข่ นมและเนยถั่ว ผสมให้เข้ากันแล้วทอดด้วยน้ำมันพืชอย่างน้ำมันคาโนลาบนกระทะแบนที่ความร้อนประมาณ 135 องศาเซลเซียส
เมนูง่ายๆ ของแม่บ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสี น่าลองทำดูนะครับ
เอมิลี ดิกคินสัน กวีผู้รักสันโดษ
.
หญิงสาวที่ชอบเก็บตัว นานๆ จะออกจากบ้านสักครั้ง กลับเขียนบทกวีได้จับใจ
เธอรักการอ่านและการเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ขณะเดียวกันนักวิชาการทางวรรณกรรมต่างยอมรับและให้การยกย่องเธอว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง และบทกวีของเธอมีเอกลักษณ์หาใครเทียบได้ยาก
แม้จะจากโลกนี้ไปกว่าศตวรรษแล้ว แต่ผลงานยังคงความเป็นอมตะ บทกวีรักของเธอนอกจากจะโรแมนติกยังเปี่ยมล้นไปด้วยอัจฉริยะภาพทางปัญญา ปลุกเร้าผู้คนให้เห็นเบื้องลึกของภายในและสิ่งเร้าจากภายนอก ความล้มเหลวในความรักกลายเป็นวัตถุหล่อเลี้ยงจินตนาการให้เธอค้นพบความเข้มแข็งในอ่อนโยน แล้วเธอก็ถ่ายทอดมันออกมาเป็นบทกวี
น่าเสียดายว่าในช่วงสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น เธอยังไม่เป็นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป สำนักพิมพ์หลายแห่งปฏิเสธผลงานเธอ กระนั้นเธอก็ไม่ยอมแพ้และพยายามสร้างสรรค์บทกลอนเรื่อยมา หลังการเสียชีวิต ครอบครัวเธอพบสมุดบันทึกกว่าสี่สิบเล่มประกอบไปด้วยบทกวีกว่า 1,800 บท ที่ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ โดยที่ผลงานชิ้นแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี (ค.ศ.1890) และชิ้นสุดท้ายในปี 1955 ผลงานของเอมิลี ดิกคินสันเป็นที่ชื่นชมจากผู้คนมากมาย รวมถึงได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลก
แม้เรื่องอาหารจะไม่ใช่ผลงานเด่นของดิกคินสัน แต่เราพบสูตรการทำเค้กมะพร้าวแบบเดียวกับที่ยังทำกันอยู่ตามบ้านเรือนในเมืองแอมเฮิร์สต์ (Amherst) รัฐแมสซาชูเซตซึ่งเป็นที่ที่เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น
เค้กสูตรนี้ทำง่ายๆ รสออกหวานและหอมกลิ่นมะพร้าว ส่วนผสมก็มีแค่แป้งเค้ก มะพร้าว น้ำตาล เนย นม ไข่ เบกกิ้งโซดาและครีมออฟทาร์ทาร์ แต่ถึงกวีคนดังของเราจะไม่ได้เขียนรายละเอียดและวิธีทำเอา กระนั้นการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเราในยุคศตวรรษที่ 21 นี้แน่ๆ จริงไหมละครับ
อกาธา คริสตี ราชินีนิยายอาชญากรรม
.
สำหรับแฟนนิยายอาชญากรรมต้องรู้จักชื่อนักสืบแอร์กูล ปัวโร ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากปลายปากกาของ อกาธา คริสตี หรือถ้าจะเรียกให้เต็มยศก็ต้องเติมคุณหญิง (Dame) เข้าไปข้างหน้าด้วย เธอมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในฐานะนักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวนจนได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม”
ขณะเดียวกันหนังสือกินเนสต์บุ๊กก็บันทึกว่าเธอเป็นนักเขียนที่มียอดขายหนังสือมากที่สุดในโลก เช่นเดียวกับบทละครเวทีเรื่อง The Mousetrap หรือ “กับดัก” ที่เปิดการแสดงขึ้นที่กรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 1952 และยังแสดงอยู่ถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีการนำผลงานของเธอไปดัดแปลงเป็นรายการโทรทัศน์ วิทยุ วีดิโอเกม การ์ตูน และแน่นอนมีภาพยนตร์หลายเรื่องรวมอยู่ด้วย
หนึ่งเมนูโปรดของราชินีนิยายอาชญากรรมคนนี้ คือ ครีม แต่ไม่ใช่ครีมธรรมดานะครับ เป็นครีมสูตรเมืองเดวอน หรือเดวอนเชอร์ครีม (Devonshire Cream) อันเป็นสูตรเฉพาะของชาวมณฑลเดวอน บ้านเกิดของเธอ ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าเธอมักจะให้พ่อครัวทำขึ้นเสิร์ฟพร้อมกับขนมสโคน (scone) รสส้ม ที่เข้ากันอย่างดีกับลูกฟิกซ์หรือมะเดื่อฝรั่ง
และแน่นอนที่จะขาดไม่ได้ก็คือน้ำชาแบบอังกฤษพร้อมกับขนมสโคนอุ่นๆ ที่เสิร์ฟพร้อมครีมและลูกฟิกซ์ที่จะทำให้ช่วงบ่ายของวันที่แสนอบอ้าวไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ถ้าสนใจวันหน้าเพจนวัตกินจะนำสูตรมาให้ลองทำกันดู ดีไหมครับ
จูเลีย ไชลด์ นักทำอาหารคนดัง
.
ชื่อของเธออาจไม่คุ้นหูบางคนนัก แต่สำหรับผู้ชื่นชอบการทำอาหาร จูเลีย ไชลด์ คือผู้เขียนบทและทำรายการอาหารทางโทรทัศน์ ที่ได้รับความนิยมจนโด่งดังในการทำอาหารฝรั่งเศสให้กับชาวอเมริกัน เธอยังเขียนตำราอาหารฝรั่งเศสไว้จำนวนมาก จนได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเชฟที่มีชื่อเสียงที่สุดของศตวรรษที่ 20
เธอเกิดที่แคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1912 ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอพบกับพอล ไชลด์ ที่ต่อมาแต่งงานกันแล้วย้ายไปอยู่ปารีส จากนั้นเธอเริ่มเรียนศิลปะการทำอาหารที่สถาบัน Le Cordon Bleu แล้วเขียนตำราอาหารเล่มแรกขึ้นมา คือ the first volume of Mastering แล้วตามมาด้วยตำราอาหารฝรั่งเศส ชื่อ the Art of French Cookingกระทั่งในปี 1963 สถานีโทรทัศน์ WGBH ของบอสตัน ได้เผยแพร่รายการ The French Chef television series ที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักกว้างขวาง และในปี 1965 เธอได้รับรางวัล the Peabody Award และรางวัล Emmy Awards ในปีถัดมา
ตำราอาหารของจูเลีย ไชลด์ที่ถือว่าคงความคลาสสิกอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ Cooking with Master Chefs เรื่อง n Julia�s Kitchen with Master Chefs และที่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกคือ เรื่อง The Way to Cook ที่ตีพิมพ์ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง ส่วนเรื่อง My Life in France ตีพิมพ์ขึ้นในปี 2006 หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว 2 ปี
แม้จะเขียนตำราอาหารไว้จำนวนมาก แต่เมนูที่จูเลีย ไชลด์ชอบมากที่สุดกลับเป็นเมนูพื้นๆ ที่แสดงฝีมือของคนทำได้เป็นอย่างดี คือ ขนมปังสีขาวๆ นุ่มๆ อย่างที่เอามาหั่นทำแซนด์วิช ซึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า pain de mie ซึ่งปรากฏอยู่ในตำราอาหารของเธอแทบทุกเล่ม แถมเรายังพบสูตรขนมปังแบบนี้หลายฉบับที่แสดงว่าเธอคิดค้นสูตรเพื่อให้ได้ขนมปังที่ดีที่สุดอยู่ตลอดเวลา
ขนมปังที่เธอบันทึกสูตรไว้ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน มีส่วนผสมง่ายๆ อย่างนม เนย เกลือ น้ำตาล แป้งสาลีและยีสต์ แม้เธอจะไม่ได้เขียนวิธีทำไว้แต่ก็มีคนนำสูตรไปทดลองทำพร้อมขยายความขั้นตอนต่างๆ ไว้ละเอียดเลยทีเดียว ถ้าสนใจลองหาดูนะครับ
แนนซี เรแกน เมนูจากครัวสตรีหมายเลข 1
.
ในยุคทศวรรษ 1980 ไม่มีใครโดดเด่นเกินสตรีหมายเลข 1 นาม แนนซี เรแกน ภริยาประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอเมริกา คือ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน อีกแล้ว
หลังจากเดินบนเส้นทางสายการแสดงอยู่ระยะหนึ่ง เธอก็แต่งงานกับนักแสดงหนุ่ม โรนัลด์ เรแกน ที่ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งแนนซีช่วยเขาหาเสียงจนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐถึง 2 สมัย และเมื่อสามีหมดวาระจากการเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียก็มุ่งสู่ทำเนียบขาว กระทั่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 1980 และปี 1984 โดยมีแนนซีเป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงส่วนต่างๆ ของทำเนียบขาว รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ ‘Just Say No’ ที่ทำให้อัตราการติดยาเสพติดในวัยรุ่นสหรัฐลดลงอย่างมาก
ส่วนตัวของแนนซีนั้น เธอได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ต้องดูแลเอาใจใส่สมาชิกเป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อเธอก้าวขึ้นมาเป็นสตรีหมายเลข 1 และได้รับผิดชอบกิจการต่างๆ ของทำเนียบขาว
เธอจึงมีฐานะเป็นหัวหน้าพ่อครัวไปโดยปริยาย อาหารหลายๆ รายการมาจากความคิดของแนนซี ซึ่งรวมถึงขนมที่มีกลิ่นอายของรัฐทางใต้ที่อากาศอบอุ่นและมีลูกพลับ (persimmon) สดๆ ให้นำมาทำอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อย อย่างพุดดิ้งลูกพลับ ลองหาวิธีทำในอินเทอร์เน็ตดูนะครับ ถึงจะมีเครื่องปรุงหลายอย่าง เป็นต้นว่า ลูกพลับ เนยเหลว น้ำตาล แป้งสาลี เกลือ ลูกจันทน์ อบเชย วานิลลา บรั่นดี ไข่ ลูกเกด ฯลฯ แต่วิธีทำกลับไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด