5 อาหารยุคตื่นทอง : อยู่ให้รอดแบบ Forty-niners

5 อาหารยุคตื่นทอง : อยู่ให้รอดแบบ Forty-niners
….
In the Spring of Forty-seven,
So the story, it is told,
Old John Sutter went to the mill site
Found a piece of shining gold…

ได้ยินเสียงเพลงคันทรียอดฮิต Sutter’s Mill ของ ดอน โฟเกลเบิร์ก (Don Fogelberg) ทีไร ภาพผู้คนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลกันไปด้วยความหวังว่าจะได้ครอบครองก้อนทองคำที่พบอยู่มากมายตามแม่น้ำลำธารในแคลิฟอร์เนียเมื่อกว่าร้อยปีก่อนก็ผุดขึ้นมาในความคิดครับ

..
(นวัตกินหายไปนาน..แอดต้องขออภัยด้วยจริงๆ เพราะภารกิจเยอะมากครับ แต่ขออนุญาตบอกให้ทราบว่าเราไปลงมือทำนวัตกรรมอาหารมาครับ เร็วๆ นี้น่าจะได้พบเจอกันในปากนะครับ 😃 – ขอขายล่วงหน้าหน่อยนะ) เอาล่ะ มาฟังเรื่องเล่าอาหารในยุคตื่นทองกันครับ..
..

ย้อนกลับไปยุคนั้น เรื่องเริ่มจากว่าในทีแรก ข่าวเล่ารือถึงการค้นพบทองคำที่บริเวณกังหันน้ำของตาเฒ่าซัทเตอร์ในปี 1947 เกิดขึ้น จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ปีรุ่งขึ้น “ยุคตื่นทอง” (Gold Rush) ก็ได้กำเนิดขึ้นอย่างแท้จริงครับ ข่าวทองคำนั้นดึงดูดผู้คนราว 300,000 คนจากทั่วสหรัฐและที่อื่นๆ ทั้งละตินอเมริกา ออสเตรเลียหรือแม้แต่จีน ให้ดั้นด้นเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำมายังแคลิฟอร์เนีย จากนั้นเมืองเล็กๆ ที่เคยสงบเสียบอย่างซานฟรานซิสโก ที่ในปี 1846 มีประชากรราว 200 คน ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน 5-6 ปีถัดมา ซานฟรานซิสโกมีประชากรเพิ่มขึ้น 180 เท่า หรือประมาณ 36,000 คน

คนเหล่านี้มีคำเรียกว่า ‘นักแสวงทอง’ หรือ โฟร์ตี-นายเนอร์ส (Forty-niners หรือ 49ers ตามปี ค.ศ. 1849 อันเป็นปีที่นักแสวงโชคเหล่านั้นเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาเซียราเนวดา (Sierra Nevada) เป็นเวลากว่า 2 ปี นั่นเองครับ

ในหนังสือและสารคดีต่างๆ นั้นพาเราไปรู้จักความเป็นไปในยุคตื่นทองในหลายมุมแล้ว ทั้งการขยายตัวของเมืองและการคมนาคม การที่คนผิวขาวเข้ายึดครองและขับไล่คนพื้นเมืองออกจากที่อยู่อาศัยเดิม (คนส่วนน้อยมั่งคั่ง ขณะที่คนส่วนมากมีเงินทองติดตัวกลับบ้านมากกว่าเมื่อมาถึงเพียงเล็กน้อย) รวมถึงางประดิษฐ์ และพัฒนาการอื่นๆ

แต่..สิ่งหนึ่งที่เราแทบไม่รู้เลยก็คือ
นักแสวงโชคที่หวังจะเป็นเศรษฐีจากเหมืองทองคำนั้น เขา ‘กิน’และ ‘อยู่’อย่างไร

วันนี้นวัตกินมีเรื่องราวของอาหารการกิน 5 อย่างของเหล่า “โฟร์ตี-นายเนอรส์” เมื่อร้อยกว่าปีก่อนมาฝากกันครับ

ขนมปังมันฝรั่งผสมเมล็ดฝิ่น
กล่าวได้ว่าขนมปังชนิดนี้มีกำเนิดพร้อมๆ กับยุคตื่นทองเลยก็ไม่ผิดนัก เหล่ากรรมกรชาวเหมืองทองคิดค้นหาวิธีเลี้ยงยีสต์ธรรมชาติเพื่อทำให้แป้งขนมปังหมักหรือแป้งโด (dough) ฟูนุ่มมากขึ้น เพราะที่จริงแป้งขนมปังมีแค่แป้งนวดกับน้ำแล้วรอให้ยีสต์ธรรมชาติที่ลอยไปลอยมาในอากาศผสมกับแป้งจนเกิดการหมักต่อไป แต่กรรมวิธีเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะได้ขนมปังที่นุ่มทุกครั้ง

ดังนั้น ชาวเหมืองจึงเติมน้ำตาลกับน้ำลงไปในแป้งเพื่อให้ยีสต์กินน้ำตาลแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา พร้อมทั้งรักษาอุณหภูมิของถังหมักแป้งให้ค่อนข้างอุ่นอยู่เสมอเพราะยีสต์ชอบ แป้งหมักที่ได้ก็จะขึ้นฟูสมใจ ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมแบ่งแป้งที่ขึ้นฟูดีแล้วไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเป็นหัวเชื้อในการหมักครั้งต่อไป บางครั้งอากาศเย็นมาก ถึงกับต้องเก็บหัวเชื้อแป้งไว้กับตัวเพื่อไม่ให้ยีสต์ตายเพราะความเย็นก็มี

ส่วนแป้งมันฝรั่งลงไปก็เพื่อลดปริมาณแป้งสาลีที่หายากกว่า ขณะที่เมล็ดฝิ่น (poppy seed) ใช้โรยบนขนมปังเพิ่มความกรุบกรอบ นั่นเอง

ตับเต่ากาลาปาโกส
ประชากรแคลิฟอร์เนียที่เพิ่มมากขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ปีทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น พ่อค้าหัวใสบางรายจึงนำเข้าสินค้าแปลกๆ จากต่างแดน ทั้งเต่าทะเลและเต่าบกจากหมู่เกาะกาลาปาโกสในมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าเราย้อนเวลากลับไปในยุคนั้นจะพบว่าตลาดของเมืองซานฟรานซิสโกไม่ต่างจากตลาดขายสัตว์เลื้อยคลานของบางประเทศที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ มีข้อมูลว่าในปี 1849 มีการส่งเต่าบกจากกาลาปาโกสอย่างน้อย 122 ตัวมายังท่าเรือที่ซานฟรานซิสโก และเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 500 ตัวในอีก 6 ปีถัดมา (ปี 1855)

แน่นอน เต่าตัวมหึมานี้มีราคาไม่น้อย เมื่อซื้อมาก็ต้องนำมาทำอาหารให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป อาหารอย่างพาย ซุป สเต๊กที่ปรุงด้วยเนื้อเต่าจึงเกิดขึ้นจนเป็นของธรรมดาไปแล้ว

ส่วนที่ชาวเหมืองชอบมากที่สุดคือ ตับของเต่าที่ถือกันว่ามีรสชาติยอดเยี่ยมที่สุด กัปตันเรือคนหนึ่งในยุคตื่นทองถึงกับบันทึกไว้ในไดอารีของเขาว่า “ตับเต่านี้รสเลิศกว่าบรรดาเนื้อทั้งหลายที่ผมเคยกินมาเลยทีเดียว”

แฮงก์ทาวน์ฟราย : อาหารของคนหิว
เมืองแฮงก์ทาวน์ (Hangtown) ปัจจุบันคือเมืองเพลเซอร์วิลล์ (Placerville) ที่อยู่ในเขตตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย ส่วนชื่อแฮงก์ทาวน์นั้นมาจากการที่เมืองนี้มีการแขวนคอคนร้ายที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่บ่อยๆ เหมือนที่เราเคยเห็นในหนังคาวบอย
แม้ชื่อเมืองจะเปลี่ยนไป แต่คำว่า Hangtown ยังคงอยู่ในเมนูอาหารที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับยุคตื่นทอง

ว่ากันว่าชาวเหมืองที่ขุดหาทองคำบนพื้นดินบนหินแข็งๆ (อันเป็นที่มาของชื่อเมืองอีกชื่อหนึ่งคือ Dry Dinggings) ถ้าพบก้อนทองเข้าก็จะตะโกนลั่นด้วยความดีใจแล้วรีบโกยอ้าวไปยัง “ซาลอน” (salon) หรือร้านที่มักจะมีคนไปพบปะและนั่งกินดื่มกัน
สิ่งที่ชาวเหมืองผู้มั่งคั่ง(ชั่วขณะ) ทำเป็นสิ่งแรกก็คือการสั่ง “อะไรแพงๆ” มากินให้สมกับที่ทนตรากตรำมาทั้งวัน และถ้าจะกวนประสาทให้มากขึ้น ชาวเหมืองหน้าตามอมแมมก็จะยิ้มกว้างพร้อมล้วงไปหยิบก้อนทองคำแวววาวในกระเป๋ากางเกงยีนขึ้นมาชูเพื่อบอกเจ้าของร้านว่า “ข้ามีทองนะ(เว้ย) รีบๆ จัดอาหารมาให้ข้าเร็ว”

แน่นอนครับ พ่อครัวก็ไม่รอช้ารีบทำอาหารจานใหญ่ๆ ให้เศรษฐีใหม่กินโดยเร็ว ซึ่งเมนูที่เรียกว่า Hangtown Fry หรือ Fry เฉยๆ นั้นก็คืออ็อมเล็ต (omelet) หรือไข่เจียวจานใหญ่ใส่เบคอนและหอยนางรม บางเจ้าก็นำไปทอดให้กรอบเสียก่อนแล้วค่อยนำมาผัดกับไข่ ขณะที่บางเจ้าใส่ผักใส่ครีมลงไปด้วย เรียกว่าเป็น OTOP ประจำเมืองพร้อม story ที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ภาวะ “ตื่นไข่” (นกทะเล)

ในยุคตื่นทอง นกและไข่นกต่างๆ ดูจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีของเหล่านักแสวงโชค แต่ถ้าจะพูดให้ชัด ไข่นกดูจะเป็นที่ชอบใจมากกว่า เพราะบินหนีไม่ได้ (เจ็บปวดไหมล่ะ!!!)
ความต้องการอาหารที่มากขึ้นตามจำนวนประชากรทำให้มีคนออกเรือไปยังหมู่เกาะฟารัลลอน (Farallon Islands) นอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก บนเกาะนี้มีนกทะเลอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งก็คือแหล่งอาหารชั้นดี ที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้แก่ผู้ที่นำมาขาย แต่นั่นก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ในแง่หนึ่งจะเรียกว่าโชคยังเข้าข้างนกเมอร์เร (Merre) ที่มีรูปร่างคล้ายนกเพนกวินบนเกาะดังกล่าวก็ได้ เพราะการจะไปเก็บไข่นกมาขายไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเกาะแห่งนั้นไม่มีจุดเหมาะๆ ให้เรือเล็กจอดได้อย่างปลอดภัย

แต่อะไรจะเกินความพยายามของมนุษย์ไปได้ล่ะครับ ในที่สุดก็มีการออกเรือไปเก็บไข่นกบนเกาะมาขายในเมืองจนเกิดภาวะ “ตื่นไข่” (egg rush) กันอย่างโกลาหล ความขาดแคลนทำให้ผู้คนแย่งกันซื้อไข่นกไปทำเป็นอาหาร และเพราะไข่นกเมอร์เรใหญ่กว่าไข่ไก่ถึง 2 เท่า เรียกว่าฟองดียวกินอิ่มเท่ากับไข่ไก่ 2 ฟองจึงเป็นที่นิยมมากจนนำไปสู่การตั้งบริษัท Pacific Egg Co. ในปี 1850 ที่ทำธุรกิจออกเรือไปเก็บไข่นกเมอร์เรและนกอื่นๆ บนเกาะฟารัลลอนมาขายมาถึงปีละ 500,000 ฟอง นับเป็นหายนะของนกพันธุ์นี้ก็ไม่ผิด

ชะตานกเมอร์เรอาจยังไม่ถึงฆาตขนาดสูญพันธุ์ เพราะเมื่อธุรกิจเลี้ยงไก่ขยายตัว เกิดฟาร์มไก่มากขึ้น ความต้องการโปรตีนได้รับการชดเชยและปรับให้เกิดสมดุล ก็ไม่มีใครเดินทางไปเก็บไข่นกทะเลมากินอีกต่อไป เกาะฟารัลลอนจึงกลับมาเป็นสวรรค์ของนกเมอร์เรและเพื่อนพ้องของมันอีกครั้งจนปัจจุบัน

พายไส้แอปเปิ้ลแห้ง

สิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจผู้คนไม่ให้ล้มเลิกการเดินทางไปแสวงโชคบนเส้นทางทุรกันดารและเสี่ยงภัยนานาชนิดไปเสียก่อนก็คือความหวังที่จะร่ำรวยขึ้นมา แม้เมื่อไปถึงแล้วก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบาก การแก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบ โรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยากขาดแคลน ฯลฯ
ชาวเหมืองทองคนหนึ่งเขียนบันทึกไว้ว่า พวกเขาได้รับแจก “ขนมปังแข็งๆ ที่อบแบบสุกครึ่งดิบครึ่ง หมูเค็ม และบางครั้งก็ได้กินเนื้อปลาแซลมอนที่ต้องขอซื้อจากพวกอินเดียนแดง ส่วนผักไม่ต้องพูดถึงแทบจะไม่มีขาย ต้องเก็บตามป่าซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะกินได้หรือไม่”

อาหารหลักในแคมป์ชาวเหมืองก็คือแอปเปิ้ลตากแห้งซึ่งเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งที่ช่วยยืดอายุออกไปได้ยาวนานกว่าแอปเปิ้ลสด ส่วนวิธีการปรุงคือนำไปต้มทำเป็นไส้พาย ถ้าโชคดีมีน้ำตาลก็จะใส่ไปด้วยเพื่อให้รสหวานขึ้นมาบ้าง แต่ก็ใช่ว่าชาวเหมืองจะชอบกินหรอกนะครับ เพราะมีกลอนบทหนึ่งที่ชาวเหมืองเขาเขียนขึ้นระบายความอัดอั้นที่ต้องทนกินพายที่มีไส้ทำจากแอปเปิ้ลแห้ง ว่า

“…But of all the poor grub beneath the skies
The poorest is dried apple pies.
Give me toothache or sore eyes
In preference to such kind of pies…”

แปลได้ประมาณว่า “…ในบรรดาอาหารยอดแย่บนโลกนี้ ที่แย่ที่สุดก็เห็นจะเป็นพาย(ไส้)แอปเปิ้ลแห้ง ให้ฉันปวดหัวหรือเจ็บตาเสียยังจะดีกว่าต้องทนกระเดือกพายแบบนั้น…”

.
ยุคตื่นทองไม่ได้เพียงทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียและเมืองน้อยใหญ่ผุดขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาไม่กี่ปี การกินอาหารกลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนทั้งคนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมหรือคนที่อพยพเข้ามาแสวงโชค สัตว์หลายชนิดเกือบต้องสูญพันธุ์เพราะถูกจับมาเป็นอาหาร ผู้คนจำนวนมากที่ต้องประสบโชคร้ายจากการถูกหักหลัง ถูกโกง เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บรวมถึงการขาดอาหาร คงเหมือนกับท่อนหนึ่งในเพลง Sutter’s Millที่ว่า

Some would fail and some would prosper
Some would die and some would kill
Some would thank the Lord for their deliverance
And some would curse John Sutter’s Mill.

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน อาหารกับมนุษย์ก็ยังเกี่ยวพันกันตลอดมา
แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า ติดตามกันนะครับ

Related Posts