เรื่องเล่า 5 อาหารจากแบรนด์ดัง ที่ต้องกลับมาขายอีกครั้งด้วยกระแสของSocial Net

เรื่องเล่า 5 อาหารจากแบรนด์ดัง
ที่ต้องกลับมาขายอีกครั้งด้วยกระแสของSocial Net
.
เชื่อว่าทุกคนมีขนม ของขบเคี้ยวและอาหารที่ชื่นชอบมากๆ กันทั้งนั้นจริงมั๊ยครับ แต่จะเกิดอะไรขึ้นนะ..เราจะรู้สึกยังไงกันนะ..ถ้าสินค้าที่เคยขายดีมีคนซื้อเยอะ วันหนึ่งกลับเลิกผลิตหรือเปลี่ยนสูตรไปเสียดื้อๆ

จะว่าไป ทางผู้ผลิตเขาก็คงมีเหตุผลของเขาเองอย่างแน่นอน แต่กับเราผู้เป็นลูกค้านี่สิครับ ขนมเอย อาหารเอย ของกินเล่นเอย…หลายอย่างที่กลายเป็นผูกพันและเตือนใจเราให้คิดถึงบางช่วงเวลาของชีวิต จนกลายเป็นความใฝ่ฝันว่าสักวันผู้ผลิตจะเข้าใจและนำกลับมาผลิตใหม่บ้าง

วันนี้นวัตกินมีเรื่องราวของ “อาหารและเครื่องดื่ม” ที่เคยป๊อปปูล่า แต่วันหนึ่งหายไป จนทำให้มีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตนำกลับมาวางตลาดใหม่ ลองไปดูกันครับว่าจะมีของที่อยู่ในใจของเราบ้างไหม

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ มีส่วนอย่างมากในการส่งผ่านเสียงเรียกร้องของผู้บริโภคไปยังผู้ผลิต กรณีอย่างนี้เคยได้ผลมาแล้วในการเรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบางชนิดที่เลิกผลิตไปแล้วกลับมาอีกครั้งหลังจากผู้คนนับพันๆ คนร่วมลงชื่อเรียกร้องในเว็บไซต์ Change.org รวมถึงแฮชแท็กในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก

เมื่อเสียงเรียกร้องได้รับการตอบรับ สินค้ายอดนิยมที่เคยหายไปนานก็กลับมาอีกครั้ง แม้บางอย่างจะเป็นการกลับมาแบบเทศกาลหรือเป็นโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะช่วงเวลาก็ตาม แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้หรอกว่าการกลับมาในลักษณะนี้ยังไงๆ ก็สามารถสร้างกระแสฮือฮาในกลุ่มลูกค้าที่เฝ้าคิดถึงได้อย่างแน่นอน

มาดูกันครับว่า มีอะไรกันบ้าง

Crispy M&M’s และ facebook group : Bring Back M&M’s Crispy
.
ปี 1998 บริษัทมารส์ (Mars) ผลิตลูกอมช็อกโกแล็ตรสนม Crispy M&M’s ที่มีไส้ข้าวพอง (crispy rice) อยู่ข้างในออกวางจำหน่ายในแบบผลิตจำกัด (limited edition) ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก แต่ก็หายไปจากตลาดอยู่นาน แม้ในปี 2005 จะมีการออกช็อกโกแลตรสมอลต์ออกมาก็ไม่ได้ทำให้แฟนๆ ข้าวพองปลื้มได้สักเท่าไหร่ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งกลุ่ม “Bring Back M&M’s Crispy” บนเฟซบุ๊ก พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้มีการนำแบบดั้งเดิมกลับมา

กระทั่งผ่านไป 10 ปี ในที่สุดบริษัทมารส์ตัดสินใจผลิต Crispy M&M’s ออกมาวางจำหน่ายเป็นการถาวรนับตั้งแต้ต้นปี 2015 เป็นต้นมา โดยคงคอนเซ็ปต์ “ละลายในปาก แต่ไม่ละลายในมือ” ไว้เหมือนเดิม

ล่าสุดเมื่อกลางปี 2019 ที่ผ่านมา ก็มีการผลิตสินค้าใหม่ในชื่อ M&M’s Block ซึ่งเป็นช็อกโกแลตนมแบบบล็อก มี 4 รสชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ยังเอาใจแฟนๆ ชาวเอ็ม ฯ ด้วยรสข้าวพองยอดนิยมอีกเช่นเคย

BK Chicken Fries เสียงเรียกจาก Change.org
.
หลังจากยอดขายไม่กระเตื้องอยู่นาน 2 ปี ในที่สุดเมื่อปี 2012 Burger King ก็ตัดสินใจยกเลิกเมนูที่ไม่สร้างรายได้อย่างนักเก็ตไก่ที่ทำให้มีรูปร่างคล้ายมันฝรั่งทอดหรือเฟรนช์ฟรายส์ที่เริ่มออกวางตลาดมาตั้งแต่ปี 2005

แต่เพราะถูกกดดันอย่างหนักผ่านทางสื่อโซเชียลชนิดที่ว่ามีทวิตเรียกร้องให้นำเมนูนี้กลับมาใหม่ปรากฏขึ้นมาบนทวิตเตอร์ทุกๆ 40 วินาที รวมทั้งการเรียกร้องผ่านเฟซบุ๊กและเว็บ Change.org จนทำให้บริษัทต้องทบทวนนโยบายด้วยการนำไก่ทอดแบบนี้ออกมาจำหน่ายใหม่อีกครั้งในปี 2014

คราวนี้เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มครับ โดบเบอร์เกอร์คิงส์ตัดสินใจทำไก่ชิ้นให้มีใหญ่กว่าเดิมบรรจุอยู่ในซองที่ดูคล้ายมันฝรั่งทอด โดยขายอยู่ที่ชุดละ 9 ชิ้น/ซองในราคา 2.89 ดอลลาร์ และยังให้สัมภาษณ์ว่ากำลังพิจารณานำเมนูนี้มาเป็นเมนูหลักของร้านเบอร์เกอร์คิงทั่วโลก

McRib กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วยเว็บไซต์ www.mcriblocator.com

มาถึงคิวของเจ้าใหญ่ในวงการอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างแม็คโดนัลด์กันบ้าง ที่จริงชื่อแม็กริบ (McRib) ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับซี่โครงเลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นแซนด์วิชบาร์บีคิวหมูที่ทำให้มีรูปร่างเหมือนแถบซี่โครงราดด้วยซอสบาร์บีคิวสูตรเฉพาะของแม็คโดนัลด์กินกับหอมหัวใหญ่และผักดองต่างหาก

โดยเมนูนี้วางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1981 แต่เพราะยอดขายในเวลานั้นไม่ดีสักเท่าไหร่ ทำให้เมนูนี้มีอายุอยู่เพียง 4 ปีก็ถูกถอดออกไปในปี 1985 แม้จะมีความพยายามนำกลับขายใหม่อีกครั้งในเวลาต่อมาแต่ผลตอบรับของลูกค้าก็ไม่สู้ดีนักและถูกถอดออกเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2005 ซึ่งรอบนี้หลายคนคิดว่าคราวนี้คงไปแล้วไปลับแน่ๆ แต่ผิดคาดครับ…

การที่แม็คโดนัลด์ปรับเปลี่ยนนโยบายการขายเสียใหม่ ทำให้แม็คริบหายหน้าหายตาไปเพียงปีเดียวก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับรูปแบบการขายช่วงสั้นๆ ของแต่ละปี พร้อมกันนี้ยังมีการจัดทำเว็บไซต์ www.mcriblocator.comเพื่อช่วยให้ลูกค้ามองหาร้านที่ขายเมนูนี้ใกล้ๆ บ้านอีกด้วย

SURGE กลับมาสู้ทางออนไลน์

เมื่อบริษัทน้ำอัดลมชื่อดังอย่างโคคา-โคลาวางจำหน่ายเครื่องดื่มโซดารสซีตรัส (พืชตระกูลมะนาว) ที่มีกาเฟอีนในปริมาณค่อนข้างสูง ยี่ห้อ “เซิร์ก” ในปี 1996 เพื่อสู้กับ “เมาเทนดิว” เครื่องดื่มแนวเดียวกันของคู่แข่งอย่างเป๊บซี่

ทั้งสองแบรนด์ต่อสู้กันทางการตลาดอย่างดุเดือด ทว่าด้วยยอดขายต่ำกว่าที่คาดไว้ ทั้งยังไม่สามารถดึงลูกค้าจากแบรนด์คู่แข่งให้หันมาซื้อเพิ่มขึ้นได้ โคคา-โคลาจึงจำเป็นต้องยุติการผลิตเซิร์กไปในอีก 10 ปีถัดมา (ปี 2006) ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความกังวลที่ว่าสถานการณ์จะซ้ำรอยเครื่องดื่มยี่ห้อ “เมลโลเยลโล” (Mello Yello) ที่ออกวางจำหน่ายในปี 1979 แต่ไม่ได้รับความนิยมจนต้องเลิกผลิตไป

แน่นอน แฟนๆ ที่ยังชื่นชอบและคิดถึงเซิร์กอยู่ก็ไม่ละความพยายาม มีการรวมกลุ่มกันทางเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์ต่างๆ จนสามารถนำเครื่องดื่มรสเปรี้ยวที่ให้ความสดชื่นซาบซ่านี้กลับมาสู่ตลาดได้อีกครั้งในปี 2014 โดยคราวนี้ โคคา-โคลาเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์อะเมซอนและร้านสะดวกซื้อในบางรัฐแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ

Crystal Pepsi กับการกลับมาเป็นครั้งคราว..ก็ยังดี

มาที่ฝั่งคู่แข่งตลอดกาลของโคคา-โคลากันบ้าง ปี 1992 เป๊บซี่ออกน้ำอัดลมใสปิ๊ง ยี่ห้อ Crystal Pepsi ออกสู่ตลาด พร้อมโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มโซดาปราศจากกาเฟอีน แม้มีการแต่งสีด้วยคาราเมลแต่ผู้ผลิตยังยืนยันว่าให้รสชาติแบบเป๊บซีต้นตำรับเหมือนเดิม

คริสต์ตัลเป๊บซี่เริ่มขายในยุโรปก่อนเป็นแห่งแรก ตามมาด้วยสหรัฐและแคนาดาในปี 1992 และ 1994 ตามลำดับ แต่ปรากฏว่าถูกดึงกลับหลังวางจำหน่ายได้เพียงปีเดียว เหตุผลสำคัญก็คือยอดขายไม่ดีเท่าที่คาดเอาไว้ ขณะที่สินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างเครื่องดื่มโซดาปราศจากกาเฟอีน ยี่ห้อ “แท็บเคลียร์” (Tab Clear) ของโคคา-โคลา ก็พบจุดจบในเวลาอันสั้นหลังวางจำหน่ายเช่นเดียวกัน

เส้นทางของคริสตัลเป๊บซีกลับมาสดใสอีกครั้ง เมื่อมีการรวมกลุ่มกันของบรรดาแฟนๆ นับหมื่นคนบนเว็บไซต์ Change.org อยู่นานหลายปีจนทำให้บริษัทเป๊บซีนำสินค้ารายการนี้กลับมาสู่ตลาดใหม่อีกครั้งในปี 2016 โดยวางขายช่วงสั้นๆ ในแคนาดาและสหรัฐก่อนจะออกคริสตัลเป๊บซี “2017 edition” ที่จำหน่ายผ่านช่องทางเว็บไซต์อะเมนซอนเป็นหลักพร้อมแผนการขายระยะสั้นเฉพาะฤูดูกาลในแคนาดาและสหรัฐระหว่างปี 2018-2019 อีกด้วย

Related Posts