หน้าต่างไวน์ สู้ Covid-19

| หน้าต่างไวน์ สู้ Covid-19 |
.
หน้าต่างไวน์ที่เมืองฟลอเรนซ์ของอิตาลีเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันกาฬโรคในศตวรรษที่ 16 ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
.

ในฐานะที่พี่โควิด-19 เขากลับมาระบาดในบ้านเราอีกครั้ง (ทั้งๆ ที่กำลังจะจบปี 20) วันนี้ “นวัตกิน” เลยนำเรื่องเก่าเกี่ยวกับโรคนี้และ “หน้าต่างไวน์” มาฝากครับ
.

นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่าการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing มีการรณรงค์ตามมาตรการต่างๆ กันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับหลายคนไปแล้ว

ร้านอาหารหลายแห่งในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ได้ฟื้นฟู “หน้าต่างไวน์” (buchette del vino หรือ wine window) ซึ่งช่องเล็กๆ บนผนังอาคารเก่าอายุหลายร้อยปีขึ้นมา แม้จะไม่มีจำนวนที่ชัดเจนแต่ตัวเลขคร่าวๆ ของหน้าต่างไวน์ในเมืองแห่งนั้นมีอยู่อย่างน้อย 150 ช่อง

กล่าวกันว่ากำเนิดของหน้าต่างไวน์นี้เริ่มต้นในแคว้นตอสกานา หรือ ทัสคานี (Tuscany) ซึ่งมีเมืองฟลอเรนซ์เป็นเมืองหลัก โดยพ่อค้าไวน์จะขายไวน์ส่วนเกินที่เหลือหรือล้นออกจากถังเก็บในราคาถูกให้แก่คนงาน โดยมักจะเจาะผนังเป็นหน้าต่างหรือประตูเล็กๆ มีขนาดกว้างพอให้มือที่ถือขวดไวน์ยื่นผ่านได้

ในปี 1559 แกรนด์ดยุกคอสิโมที่ 1 แห่งเมดิซี ผู้ครองแควันทัสคานี ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องการลดการสัมผัสกันของผู้คนในช่วงที่มีกาฬโรคแพร่ไปทั่วยุโรปขณะนั้นซึ่งทำให้มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีการออกมาตรการต่างๆ เป็นต้นว่า การปิดประตูเมืองไม่ให้คนเข้าออก การสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่นอกเมืองเพื่อรักษาผู้ป่วย รวมถึงการประกาศให้พ่อค้าไวน์ขายไวน์ทั้งหมดสามารถขายอยู่ที่บ้านได้โดยตรง ไม่ต้องนำไปเร่ขายตามร้านหรือตลาด ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความคิดการทำ ‘หน้าต่างไวน์’ขึ้นมา

หน้าต่างไวน์ คือช่องเล็กๆ ตรงผนังของบ้านเจ้าของไวน์ที่ถูกเจาะไว้แค่ขนาดส่งมือยื่นของให้กันได้โดยไม่ต้องมองหน้าหรือเข้าใกล้

เมื่อลูกค้าต้องการซื้อไวน์ก็จะเคาะบานไม้เล็กๆ ที่ปิดช่องดังกล่าวไว้ แน่นอนครับ หน้าต่างไวน์นี้กลายเป็นสิ่งที่ระบาดฮิตกันไปทั่วในหมู่คนทำไวน์ในเวลาไม่นานเพราะพวกเขาต้องทำมาค้าขายเพื่อสู้กับกาฬโรค โดยไวน์ของตระกูลเก่าแก่ที่ยังผลิตอยู่ในปัจจุบันอย่างอันติโนริ (Antinori) เฟรสโกบัลดิ (Frescobaldi) และ ริคาโซลิ (Ricasoli) ล้วนขายผ่านหน้าต่างไวน์มาแล้วทั้งสิ้น

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งที่ยืนยันการอยู่ของหน้าต่างไวน์ คือ ข้อเขียนของฟรานเซสโก รอนดิเนลลิ (Francesco Rondinelli) นักปราชญ์ชาวฟลอเรนซ์ที่ตีพิมพ์ในปี 1634 เขาอธิบายว่าพ่อค้าไวน์จะขายสินค้าของตนผ่านช่องบนผนังที่เรียกว่า ‘สปอร์เตลโล’ (sportello แปลว่า ช่อง โพรงหรือรู) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับลูกค้า และเมื่อลูกค้าจ่ายค่าไวน์แล้ว พ่อค้าจะนำเหรียญกษาปณ์เหล่านั้นไปแช่ในน้ำส้มสายชูเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

กลับมาที่ยุคของเรา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 (จนถึงปัจจุบันซึ่งพวกเรายังหาวิธีจัดการมันไม่ได้) ทำให้ตอนนี้ในอิตาลีเริ่มมีธุรกิจของร้านค้าหลายร้าน เช่นร้านไอศกรีมเจลาโต กาแฟคาปูชิโน แม้แต่ร้านเครื่องดื่มค็อกเทลก็เริ่มทดลองนำหน้าไอเดียของต่างไวน์กลับมาใช้กันอีกครั้งโดยทำช่องส่งผ่านของตัวเองขึ้นมา นับเป็นการประยุกต์ภูมิปัญญาจากอดีตมาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันครับ

Related Posts