“รัสเซียกับแชมเปญกรรมกร”
.
เกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อผู้นำหลังม่านเหล็กอย่างโจเซฟ สตาลิน ตัดสินใจสร้างนโยบายโฆษณาชวนเชื่อครั้งใหญ่ในระบอบสังคมนิยม ด้วยการส่งเสริมการผลิตแชมเปญราคาถูกจำนวนมากออกมาเอาใจชนชั้นกรรมาชีพ
.
ช่วง ค.ศ. 1930หรือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประวัติศาสตร์รัสเซียนั้น วิกฤติจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมกัน ความอดอยากที่โจมตีสหภาพโซเวียตมาตลอดในต้นทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำขัดแย้งระหว่างชนชั้น การทำเกษตรกรรมด้วยวิธีการยุคเก่าซึ่งให้ผลผลิตน้อยมาก และนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจที่เน้นความรุนแรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประเดประดังส่งผมทำให้คนจำนวนมากล้มตายลงเพราะความอดอยากหิวโหย
ศพถูกนำไปทิ้งไว้ข้างถนนและทางรถไฟโดยไร้ผู้เหลียวแลส่งกลิ่นโหยน่าคลื่นเหียน ชาวนาผู้หิวโหยเดินทางออกหาทุกอย่างที่จะนำเป็นอาหารได้ไม่ว่าจะเป็นซังข้าวโพด ลูกสนแอคอร์น แมว สุนัข และที่โหดร้ายที่สุดคือการกินมนุษย์ด้วยกันเองเพื่อให้รอดชีวิต
ขณะที่ความอดอยากดำเนินไป ผู้มีอำนาจของสหภาพโซเวียตก็ให้ความสนใจกับการขาดแคลนเช่นกัน หากแต่ไม่ใช่การขาดแคลนอาหารของชาวนายากจน ทว่าเป็นการขาดแคลน “แชมเปญ” โดยทั้งนี้ ในปี 1936 รัฐบาลโซเวียตออกมาตรการเพิ่มการผลิตไวน์อัดลม (sparkling wine) โดยตั้งเป้าให้สามารถผลิตได้เป็นล้านขวดในไม่กี่ปีหลังจากนั้น
.
| ชนขั้นกรรมาชีพต้องได้จิบแชมเปญ |
แนวคิดในการสร้างอุตสาหกรรมแชมเปญแบบคอมมิวนิสต์นี้ มาจากโจเซฟ สตาลิน ผู้นำที่เติบโตมาในสาธารณรัฐจอร์เจียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไวน์รายสำคัญของโลก เขามีความเชื่อว่าแชมเปญเป็นเครื่องหมายของการอยู่ดีมีสุข มีสวัสดิภาพ
และการได้ดื่มแชมเปญคือการมีชีวิตที่ดี ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมทำให้ทุกอย่างเป็นจริงได้ไม่ใช่แค่เพียง “ขนมปังและสันติภาพ” ดังที่เลนิน ผู้นำคนก่อนหน้าเขากล่าวไว้
จุดเริ่มต้นของการผลิตแชมเปญของโซเวียตเริ่มต้นขึ้นไม่นานหลังจากมีการยกเลิกบัตรปันส่วนอาหาร (ration cards) ในปี 1935 รัฐบาลเร่งการผลิตแชมเปญอย่างเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานระดับสูง พร้อมนโยบายที่ว่า “โลกใหม่” ของสตาลินต้องสามารถการผลิตแชมเปญ ช็อกโกแลตและคาเวียร์ในปริมาณมากเพื่อให้มีราคาถูกลงมากๆ จนชนชั้นกรรมาชีพที่ทำงานตามโรงงานหรือหน่วยผลิตต่างๆ ซึ่งมีรายได้น้อยอยู่แล้วสามารถเข้าถึงได้เหมือนอย่างชนชั้นสูงใน “โลกเก่า”
.
| พรายฟองของความฝัน |
แต่ก่อนที่บรรดาคนงานจะได้ลิ้มรสแชมเปญที่ผลิตขึ้นเพื่อพวกเขา ผู้ผลิตไวน์จำเป็นต้องมีเทคนิคในการทำให้เกิดฟองขึ้นมาในสินค้าของเขา หากยังคงผลิตตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิมที่ให้ไวน์เกิดการหมักในขวดอยู่ก็คงไม่สามารถการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้
ดังนั้น ผู้ผลิตไวน์รายหนึ่ง คือ อันทอน โฟรลอฟ-บาเกรเยฟ (Anton Frolov-Bagreyev) จึงเปลี่ยนจากเทคนิคการหมักบ่มในขวดแบบเดิมไปสู่การบ่มในถังแรงดันแทน เทคนิคดังกล่าวลดเวลาการหมักจาก 3 ปี เหลือเพียง 1เดือน และทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ 5,000ถึง 10,000 ลิตรพร้อมๆ กันในคราวเดียว
ตอนนั้นทุกภาคส่วนในโซเวียตก็ขานรับนโยบายของสตาลิน มีการออกคำสั่งสร้างไร่องุ่น โรงงานและโกดังจำนวนมาก เช่นเดียวกับการจ้างงานและฝึกฝนคนงานจำนวนหลายพันคน เช่นเดียวกับธนาคารรัฐที่เปิดบัญชีพิเศษเพื่อสนับสนุนทุนเริ่มต้นกิจการเป็นเป็นหลายพันล้านรูเบิ้ล
ความใฝ่ฝันของสตาลิน ปี 1942 คือจะต้องผลผลิตแชมเปญชุดแรกที่ผลิตแบบอุตสาหกรรม จำนวน 12 ล้านขวดออกมา แต่ทว่าฝันของเขากลับมีอันต้องพังทลายลง เพราะมีคนจำนวนหนึ่งมองว่าแชมเปญเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางและถูกมองว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน”
ไร่องุ่นของเอกชนหลายแห่งถูกทำลายหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น ขณะที่โรงงานของรัฐก็มีกำลังการผลิตค่อนข้างน้อย จนกล่าวได้ว่าแผนการที่วางไว้ไม่อาจเป็นจริงได้ ความฝันที่จะให้ไร่องุ่น โรงงานผลิตไวน์และแชมเปญยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน ให้พวกเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นเพียงความฝัน
ขณะเดียวกัน นโยบายการผลิตแชมเปญของโซเวียตยังเน้นที่ “ปริมาณ” มากกว่าคุณภาพ เดิมเจ้าของไร่ใช้พันธุ์องุ่นพื้นเมืองต่างๆ จากจากมอลโดวา (Moldova) ถึงทาจิกิสถาน (Tajikistan) ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทนความเปลี่ยนแปลงของอากาศได้ดีและให้รสหวานถูกใจสตาลิน
โรงงานขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการแบบรวมศูนย์ก็ผลิตไวน์จากแหล่งต่างๆ แล้วส่งส่วนผสมเข้าสู่โรงงานที่สามารถบรรจุไวน์ลงขวดได้ชั่วโมงละหลายพันใบโดยใช้ถังความดันของโฟรลอฟ-บาเกรเยฟและระบบการบรรจุด้วยเครื่องจักร
ผลที่ได้คือ ไวน์อัดลมที่มีความหวานแบบน้ำเชื่อมราคาถูก พูดง่ายๆ คือไวน์เกรดต่ำที่แย่ทั้งเรื่องของรสชาติและความประณีตในขั้นตอนการผลิต เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีโรงงานหลายรายที่แอบเติมสารกันบูดและน้ำตาลเพื่อปิดบังความด้อยคุณภาพของผลผลิตอีกด้วย
.
| ขวัญใจแรงงาน |
แต่ยังไงก็ตาม สำหรับชนชั้นกรรมาชีพแล้ว เครื่องดื่มรสหวานอัดลมแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขาจะมีโอกาสได้ลิ้มลอง พวกเขาเลยไม่สนใจเรื่องคุณภาพมากไปกว่าความหวานและฟองที่ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา ยิ่งแชมเปญคุณภาพแย่ที่ว่ายังมีราคาถูกเหมือนได้เปล่าก็ยิ่งทำให้สมใจเพราะดื่มได้มากเท่าที่ต้องการ เรียกได้ว่าการดื่มแชมเปญทำให้พวกเขารู้สึก “ชีวิตดี” (ไม่ต่างกับการผู้คนในประเทศเสรีที่ได้ดื่มเครื่องดื่มโคคา-โคล่า นั่นแหละ)
.
พอมาถึงช่วงปลายทศวรรษ 1940โรงงานผลิตไวน์อัดลมยี่ห้อ Sovetskoye Shampanskoye ก็ได้เปิดกิจการขึ้นในมอสโควและเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง พร้อมส่งสินค้าออกสู่ตลาดไม่ขาดสาย และในทศวรรษ 1950ก็มีการขายแบบเป็นถ้วยที่สนามกีฬาเลนิน (Lenin Stadium)
แม้ช่วงนี้มันจะเริ่มจะมีราคาสูงเกินกว่าจะบริโภคทุกวันได้ แต่แชมเปญหรือไวน์อัดลมแบบนี้ก็กลายเป็นความสำคัญในชีวิตและพบเห็นได้ทั่วไปในกิจกรรมการเฉลิมฉลองสำคัญๆ ของชาวโซเวียตไปเรียบร้อยแล้ว ถึงกับมีคนกล่าวว่า
“ถ้านิวยอร์กไม่มีแชมเปญจะไม่มีการเฉลิมฉลอง..ไวน์อัดลมเช่นกันสำหรับชาวโซเวียต”
.
| แชมเปญสตาลิน..ความย้อนแย้งในการชวนเชื่อ |
การผลิตแชมเปญแบบอุตสาหกรรมที่วานี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโฆษณาชวนเชื่อครั้งใหญ่ที่ต้องการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศในระบอบสังคมนิยม
แต่แม้ภาพลักษณ์ภายนอกจะตกแต่งได้บ้าง แต่ชีวิตผู้คนภายในสังคมในเวลานั้นจริงๆ แล้วยังคงต้องเผชิญกับความขัดแย้ง สับสนและดิ้นรน คดีน้อยใหญ่ทั้งตดีการเมืองและคดีชาวบ้านเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คนจำนวนไม่น้อยถูกจับตัวในเวลากลางคืนและต้องพบกับช่วงเวลาที่น่าหวาดกลัวที่สุดในชีวิตไปพร้อมกันในค่ายแรงงาน
ความย้อนแย้งที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปรากฏว่า มีป้ายโฆษณา “แชมเปญของสตาลิน” ติดอยู่ตามข้างโบกี้รถไฟที่ลากจูงด้วยหัวรถจักรแบล็กมาเรีย (Black Maria) เพื่อนำนักโทษหลากหลายตั้งแต่อาชญากรความผิดเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงนักโทษการเมืองและผู้มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐไปสู่ค่ายแรงงานโซเวียตที่เมืองกูลัก (Gulag) ตามนโยบายปราบปรามทางการเมืองของสตาลินในเวลานั้นนั่นเอง