จางกยองฮั่ง : สตรีผู้ให้กำเนิดตำราอาหารเกาหลี
“ชีวิตของเราหมายถึงการมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นๆ”
สี่ร้อยกว่าปีก่อน สตรีเกาหลีคนหนึ่งเขียนตำราอาหารมอบให้ลูกสะใภ้เพื่อให้มอบแก่ทายาทรุ่นต่อไปๆ วันนี้โลกได้รู้ว่าตำราเล่มนี้ไม่เพียงแนะนำการทำครัวเท่านั้น แต่ยังแฝงมรดกภูมิปัญญาสำคัญเอาไว้ด้วย
ในทศวรรษ 1980 มีการค้นพบเอกสารเก่าแก่หลายร้อยปี ชื่อ Eumsik-dimibang หรือ “เข้าใจรสชาติอาหาร” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นตำราทำอาหารที่เขียนด้วยอักษรฮันกึลตัวอักษรของเกาหลีที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้แทนตัวอักษรฮันจาหรืออักษรจีนที่ใช้เขียนภาษาเกาหลีมาก่อน เอกสารดังกล่าวเขียนโดยจางกยองฮั่ง (Jang Gye-hyang) เมื่อประมาณ ปี 1670 หรือกว่า 400 ปีมาแล้ว นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นตำราอาหารเล่มแรกของเอเชียตะวันออกที่เขียนโดยผู้หญิง
ปัจจุบันเอกสารชื่อ Eumsik-dimibang ที่เธอเขียนในวัยชราจัดแสดงอยู่ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติคยองบุก (Kyungpook National University, KNU) ที่เมืองแทกู (Daegu) สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ เขียนด้วยอักษรเป็นระเบียบ ความยาว 30 หน้า บอกวิธีทำอาหารประมาณ 146 อย่าง แม้ปกเอกสารดังกล่าวจะเขียนด้วยอักษรจีนซึ่งในอดีตเป็นของสงวนสำหรับชนชั้นสูงที่จะเรียน อ่านและเขียนได้
ทว่าเอกสารของเธอกลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะเขียนด้วยอักษรเกาหลีแล้ว ยังมีเนื้อหาเป็นการให้ความรู้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับการประกอบอาหารอย่างละเอียด รวมถึงการเก็บรักษาผลไม้และการกลั่นสุราแบบเกาหลี
จุดเด่นของเอกสารเล่มนี้ยังได้แก่การที่เนื้อหาไม่ได้เอ่ยถึงพริกป่นเกาหลี หรือ โคชูการู (Gochugaru) ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารเกาหลีปัจจุบัน แต่เรามีหลักฐานว่าในยุคของจางกยองฮั่งมีโคชูการูซึ่งทำจากพริกจากสเปนจะมีแล้วทำให้สันนิษฐานว่าอาหารที่เอกสารดังกล่าวรวบรวมไว้เป็นอาหารราชสำนักในอดีตก่อนที่คนเกาหลีจะรู้จักพริกจากโลกใหม่ นั่นเอง
ความพิเศษอีกประการหนึ่งของเอกสารของจางกยองฮั่งคือเขียนโดยผู้หญิงซึ่งเมื่อกว่า 400 ปีก่อนนั้นแทบหาคนที่มีการศึกษาอ่านออกเขียนได้น้อยมาก
เรารู้เรื่องราวของเธอว่าเกิดเมื่อปี 1598 เป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของนักปราชญ์ผู้โด่งดัง แต่สภาพสังคมในเวลานั้นได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื่อใหม่อย่างเต็มที่ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเต็มที่เท่าที่ควร
กล่าวกันว่าจางกยองฮั่งอาศัยแอบฟังบิดาสอนหนังสือลูกศิษย์และแอบอ่านหนังสือของเขามาตั้งแต่เด็กๆ ในไม่ช้าเธอก็มีความเชี่ยวชาญทั้งการวาดภาพ การเขียนอักษรวิจิตรและบทกวี ด้วยเหตุนี้ จางกยองฮั่งจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีหญิงคนสำคัญของเกาหลีมานับร้อยๆ ปีแล้ว
จางกยองฮั่งยังสอนให้สตรีที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วยการออกสำรวจรอบๆ หมู่บ้านในเวลาที่กินอาหารค่ำ หากบ้านไหนไม่มีควันไฟลอยขึ้นมาจากครัวหมายความว่าบ้านนั้นไม่มีข้าวจะหุงกิน ให้ชวนครอบครัวผู้ทุกข์ยากนั้นมาทำงานในที่ดินของเธอเพื่อจะได้มีอาหารประทังชีวิต
เมื่อจางกยองฮั่งอายุ 19 ปี ผู้เป็นพ่อได้จัดการให้เธอแต่งงานกับ อี ซี-เมียง (YiSi-myeoung) ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขา หลังแต่งงานทั้งคู่ย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านห่างไกลในจังหวัดคย็องซังเหนือ และในฐานแม่บ้าน เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการทำงานบ้านและยังสอนหนังสือให้แก่ลูกๆ ทั้ง 10 คนของเธอในจำนวนนี้มีลูกติด 2 คนของสามีรวมอยู่ด้วย ผลของความพากเพียรทำให้เธอกลายเป็นแม่ของนักปราชญ์ถึง 7 คนและยังเป็นบรรพบุรุษของอี มุน-ยอล นักเขียนชื่อดังของเกาหลีใต้ในยุคปัจจุบันอีกด้วย
แต่เดิมนั้น จางกยองฮั่นเขียนเอกสาร Eumsik-dimibang ขึ้นมาเพื่อมอบให้กับภรรยาของลูกชายไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขณะเดียวกันก็หวังให้เธอส่งมอบเอกสารดังกล่าวแก่ลูกสะใภ้คนต่อไปๆ ในอนาคตซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมานานนับศตวรรษแล้ว
แต่เนื่องจากความวุ่นวายและความอดอยากจากภาวะสงครามในช่วงทศวรรษ 1960-70 ทำให้เอกสารของจางกยองฮั่นถูกหลงลืมไปไปจากหน้าประวัติศาสตร์ กระทั่งต้นทศวรรษ 2000 อดีตครูสอนคหกรรมศาสตร์คนหนึ่งได้นำเอกสารล้ำค่าของจางกยองฮั่นกลับมาให้โลกรู้จักอีกครั้ง ในฐานะสมาชิกคนใหม่ของตระกูลอี
เธอได้ทดลองทำอาหารตามที่บรรพบุุรุษบันทึกไว้และยังช่วยทำวิจัยเพื่อตีความตำราอาหารดังกล่าวจนนำไปสู่การตีพิมพ์ในปี 2006 โดยอธิบายสัดส่วนเครื่องปรุงด้วยมาตราชั่งตวงวัดสมัยใหม่ พร้อมทั้งแนะนำผู้อ่านเกี่ยวกับการปรุงอาหารจากเมนูประวัติศาสตร์ด้วยเครื่องปรุงที่หาได้ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีการนำสูตรอาหารในเอกสารของจางกยองฮั่นมอบให้กับภัตตาคารแห่งหนึ่งในหมู่บ้านที่เธอเคยอาศัยอยู่กับสามีและลูกๆ ที่จังหวัดคย็องซังเหนือ โดยนักท่องเที่ยวสามารถลิ้มรสอาหารที่ผลิตด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมเมื่อกว่า 400 ปีมาแล้ว และยังสามารถพักค้างที่ศูนย์บริการการท่องเที่ยวพร้อมสัมผัสบรรยากาศแบบบ้านชาวเกาหลีในอดีตอย่างใกล้ชิด อีกด้วย
เอกสารของจางกยองฮั่นไม่ใช่เพียงตำราอาหารหรือคู่มือปฏิบัติตนของแม่บ้านแม่เรือน หากแต่ยังเป็นหลักฐานที่ยืนยันความสืบเนื่องของวัฒนธรรมเกาหลีที่ถ่ายทอดผ่านขนบธรรมเนียมที่มีสตรีเป็นผู้สืบทอดมานานนับร้อยๆ ปี อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในปัจจุบันหันมาให้ความใส่ใจประวัติศาสตร์และมรดกภูมิปัญญาที่เก่าแก่และทรงคุณค่าด้วย
แต่สิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับผู้คนในปัจจุบันไม่ใช่เพียงเมนูต่างๆ ที่ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกตื่นใจทุกครั้งที่ได้ลิ้มลองเท่านั้น หากมันคือความหมายที่ว่า “ชีวิตของเราหมายถึงการมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นๆ” นั่นเอง