จาก “น้ำเต้าหู้” สู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ.2020 ในอีกไม่กี่วันนี้ แล้ว..และทุกวันนี้ คำว่า “มลพิษจากขยะและพลาสติก” ก็ไม่ใช่ปัญหาใหม่อีกต่อไปแล้วนะครับ
แต่มันนับเป็นปัญหา ‘ใหญ่’ ของโลกไปเรียบร้อยแล้วด้วย
วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ทำให้มนุษย์จำนวนมาก ทั้งนักวิทยาศาสตร์และสาขาอาชีพอื่นๆ ต่างพยายามทดลองและสร้างโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมามากมายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
อยู่ระหว่างการทำลองบ้าง แตกต่างกันไป
และล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากประเทศสิงคโปร์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ร่วงวงทดลองผลิตวัสดุห่อหุ้มอาหารรักษ์โลกขึ้นมาจากกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นของเหลือ
และเพราะไอเดียนี้จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้มหาศาล อีกทั้งยังเป็นไอเดียที่ทำได้ในราคาถูก มันจึงจัดเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสำหรับยุคนี้ที่น่าจับตามอง
.
▪ ขยะถั่วเหลืองวันละ 30 ตันในสิงคโปร์
แต่ละวันชาวสิงคโปร์บริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นจำนวนมาก และแน่นอนย่อมทำให้เกิดขยะจำนวนมากตามมา
ว่ากันว่ามากถึงวันละ 30 ตันซึ่งนับว่าเยอะมากสำหรับประเทศที่มีพื้นที่จำกัด (ซึ่งรวมไปถึงถึงพื้นที่สำหรับฝังกลบของเสียด้วย)
ปัญหานี้ทำให้ วิลเลียม เฉิน (William Chen) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ และ
เทคโนโลยีการอาหาร แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ทดลองทำการคิดค้นแผ่นห่อหุ้มอาหารที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable food wrap) โดยนำเซลลูโลส (cellulose) จากของเสียในโรงงานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองขึ้นมาใช้
ที่ผ่านมา คนเอเชียนั้นนำถั่วเหลืองมาแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ มานับร้อยๆ ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้ มิโซะ หรือแม้แต่นมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้)
ทั้งนี้ ในกระบวนการแปรรูป เมื่อถั่วเหลืองถูกบดและคั้นเอาน้ำเพื่อทำเป็นเต้าหู้และนมถั่วเหลืองแล้ว จะมีขยะที่เป็นกากถั่วเหลืองจำนวนมาก ซึ่งมักจะนำไปทิ้งหรือไม่ก็นำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์
ศาสตราจารย์เฉินจึงทดลองนำกากถั่วเหลืองมาหมักให้จุลินทรีย์กินสารอาหารที่เหลืออยู่ในกากถั่วเหลืองจนเหลือเพียงเส้นใยเซลลูโลส
▪ เซลลูโลสจากถั่วเหลือง : ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว
เซลลูโลส คืออะไร?
เซลลูโลสเป็นคาร์โบรไฮเดรตชนิดหนึ่งซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของผนังเซลล์พืช เช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช เป็นต้น
โดยเซลลูโลสนั้นจัดเป็นเส้นใยอาหารประเภทที่ไม่ละลายน้ำ และไม่สามารถย่อยได้ด้วยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เพราะมันทนทานต่อปฏิกิริยาของเอนไซม์ กรดและเบสที่เจือจาง
จริงๆ แล้วคำว่า “เซลลูโลส” นั้นไม่ใช่คำใหม่ และเราน่าจะคุ้นๆ กันอยู่บ้างนะครับ เพราะว่าก่อนหน้านี้ มีการผลิตแผ่นห่อหุ้มอาหารที่ทำจากเซลลูโลสวางจำหน่ายในท้องตลาดบ้างแล้ว
เพียงแต่ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะทำจากไม้ หรือไม่ก็ข้าวโพดที่ปลูกขึ้นเพื่อนำมาแปรรูปเป็นแผ่นห่อหุ้มอาหารโดยเฉพาะ พูดง่ายๆ ว่ามันไม่ใช่ของเหลือนั่งเอง
ซึ่งอันนี้แตกต่างกันมากกับไอเดียของ วิลเลียม เฉิน ที่เป็นการแปรรูปของเสียจากโรงงาน ไอเดียของเขาจึงไม่เบียดเบียนธัญพืชที่ควรจะปลูกเพื่อเป็นอาหารของคน และยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากกว่า
ทำให้เทคโนโลยีที่เฉินคิดขึ้นมาจะช่วยแก้ปัญหาได้ถึง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ “การลดจำนวนพลาสติก” และ “การลดจำนวนขยะที่จะนำไปฝังกลบ”
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าสิงคโปร์มีของเสียจากอาหารเพิ่มขึ้นทุกปีๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองซึ่งเป็นที่นิยมมากในประเทศ
▪ จาก “ถั่วเหลือง” สู่ “ทุเรียน”
บริษัท F&N ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองได้ให้ความร่วมมือกับโครงการนี้โดยช่วบบจัดส่งขยะจากการแปรรูปถั่วเหลืองตรงถึงโรงงานห้องทดลองของศาสตราจารย์เฉิน
นอกจากนี้พวกเขายังช่วยประเมินความเป็นไปได้ในการผลิตแผ่นห่อหุ้มอาหารในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้อีกด้วย
เฉินกล่าวว่า ขณะนี้หากเทียบกับพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการปิโตรเคมีที่พบเห็นได้ทั่วไปแล้ว ต้องยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพยังเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูงอยู่มาก
แต่เขาก็เชื่อว่าแผ่นห่อหุ้มอาหารที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่เขาคิดค้นขึ้นนี้จะรองรับการขยายตัวและมีราคาถูกลงกว่านี้ได้ในอนาคต เพราะวัสดุห่อหุ้มอาหารนี้ “เกือบจะไม่มีต้นทุน” เนื่องจากได้วัตถุดิบมาทดลองฟรีๆ แต่หากนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเก็บและการควบคุมคุณภาพ ซึ่งเขายอมรับว่า “เรายังไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย”
ไอเดียถั่วเหลืองนั้นว่าดีแล้ว แต่ยังไงก็ตามเฉินไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะเขายังพัฒนากระบวนการเปลี่ยน “เปลือกทุเรียน” ซึ่งมีจำนวนเซลลูโลสสูงมากให้เป็นพลาสติกห่อหุ้มอาหารด้วย
ยิ่งในแต่ละปี ชาวสิงคโปร์บริโภคทุเรียนมากถึง 12ล้านผล ( ปี 2019 สิงคโปร์มีประชากรเกือบ 6 ล้านคน เฉลี่ยบริโภคทุเรียนคนละ 2 ผล/ปี) ซึ่งแปลว่ามีขยะที่เกิดการบริโภคผลไม้ชนิดนี้จำนวนมหาศาล ดังนั้น การนำไปฝังกลบจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอีกต่อไป
▪ ย่อยสลายด้วยแสดงอาทิตย์ หรือด้วยชีวภาพ
เมื่อเราพูดถึง “พลาสติกที่ย่อยสลาย” ได้ สิ่งแรกที่เรามักนึกถึงคือคำว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก (bioplastic) แต่กว่าพลาสติกชีวภาพบางชนิดจะย่อยสลายได้เต็มที่ ก็ต้องได้รับอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียสต่อเนื่องเป็นเวลานาน
อย่างที่โฆษณาว่า “พลาสติกนี้ย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์” นั้น ในความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่ได้ง่าย
เพราะหากพลาสติกที่ว่าไม่ได้รับการคัดแยกและทิ้งในสภาพที่เหมาะสม ต่อให้พลาสติกชีวภาพรับแสงแดดนานเป็นวันๆ พวกมันก็ไม่เกิดการย่อยสลาย ซ้ำยังกลายเป็นการเพิ่มปัญหามลพิษจากขยะมากขึ้นมาอีกต่างหาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฉินเคยเสนอว่า ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะแผ่นห่อหุ้มอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองที่เขาคิดค้นขึ้นจะกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์และย่อยสลายได้จนหมดในเวลาเพียง 1 เดือน
ดังนั้น เราจึงสามารถทิ้งมันรวมกับของเสียทั่วไปจากบ้านเรือนได้ และมันจะย่อยสลายไปเองได้โดยไม่ต้องมีความร้อนมาเกี่ยวข้อง
.
▪ ความพยายามของนวัตกรรมรักษ์โลก
มีข้อมูลว่าไม่เพียงเฉินเท่านั้นที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้พลาสติก
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมกรต่างๆ ยังมีการนำ “มารีนาเท็กซ์” (MarinaTex) หรือผลิตภัณฑ์อเนกประสงค์ ที่มีลักษณะโปร่งแสง มีความยืดหยุ่น และย่อยสลายได้ภายใน 1-2 เดือน ไปผลิตเป็นถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง , เป็นพลาสติกใสในกล่องกระดาษชำระ , เป็นแผ่นห่อหุ้มแซนด์วิช , รวมไปถึงมีการนำพืชมาผลิตเป็นเลื่อมหรือลูกปัดสำหรับประดับบนเครื่องแต่งกาย และบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม หรือถุงบุหงาที่ทำจากสาหร่ายทะเล อีกด้วย
โดย เฉินกล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศอื่นๆ ที่มีการผลิตและบริโภคถั่วเหลืองจำนวนมากเช่นเดียวกับสิงคโปร์ก็น่าจะนำนวัตกรรมที่เขาคิดค้นขึ้นมาไปใช้
และเขาหวังว่าเทคโนโลยีราคาถูกและเรียบง่ายนี้จะช่วยลดจำนวนพลาสติกและของเสียจากอาหาร พร้อมๆ กับการสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดกว่าขึ้นได้ในไม่ช้า
แน่นอนครับมิสเตอร์เฉิน..
เพจนวัตกิน ขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่สนับสนุนให้มีการคิดค้นนวัตกรรม “รักษ์โลก” ต่อไปครับ
เพราะไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบใด และเกิดขึ้นมาเพื่อลดหรือแก้ได้มากได้น้อยแค่ไหน
ยังไงๆ มันก็ย่อมเป็นความพยายามที่งดงาม เพราะมันเป็นการทำเพื่อโลกของพวกเรานั่นเอง
ขอชื่นชมจากใจจริงครับ